คนทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง เขาหาแรงบันดาลใจมาจากไหนกัน?
คำถามยอดนิยมที่เรามักได้ยินทุกครั้งเวลามีการสัมภาษณ์ศิลปินก็คือ “ผลงานชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากไหน?” โดยเฉพาะถ้าศิลปินคนนั้นมีชื่อเสียงมาก หรือถ้าผลงานของเขาประทับใจเรามากๆ เราก็จะยิ่งให้ความสนใจกับแรงบันดาลใจของเขาเป็นพิเศษ แต่แรงบันดาลใจคือทุกอย่างของผลงานศิลปะจริงรึเปล่า? ศิลปินสามารถแต่งเพลงโดยไม่มีแรงบันดาลใจได้ไหม?
ลักษณะของงานดนตรีประกอบภาพยนตร์
โดยปกติแล้ว คนทำดนตรีประกอบภาพยนตร์จะเริ่มทำงานได้ตั้งแต่ช่วง postproduction ของภาพยนตร์ นั่นหมายความว่าหลังจากการผลิตหนังได้เริ่มตั้งแต่การเขียนบท ไปจนถึงการถ่ายทำ และได้มีการตัดต่อ rough cut ออกมาเรียบร้อยแล้ว ด้วยเหตุนี้งานทำดนตรีประกอบภาพยนตร์จึงเป็นงานที่มี deadline ค่อนข้างด่วนเสมอ และคนทำดนตรีประกอบก็ไม่สามารถจะนั่งรอแรงบันดาลใจให้มาก่อน แล้วจึงค่อยลุกไปทำงาน ไม่อย่างนั้นงานก็คงจะเสร็จไม่ทัน
แต่ทำไมดนตรีประกอบภาพยนตร์บางเรื่องถึงเขียนออกมาได้ดีมากๆ เลยล่ะ? นอกจากตัวดนตรีจะมีความไพเราะแล้ว มันยังทำให้ผู้ชมอย่างเรารู้สึกร่วมไปกับตัวละคร หรือเข้าใจบรรยากาศของฉากต่างๆ ได้ราวกับเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นกับตัวเราเอง วันนี้เราลองไปดูกันครับว่า film composers ที่มีชื่อเสียงระดับโลกเขาหาแรงบันดาลใจมาจากไหนกัน
1. Erich Korngold
Hugo Friedhofer ผู้เรียบเรียงดนตรีสำหรับวงออเคสตรา (orchestrator) ของ Erich Korngold บอกว่า ขั้นตอนการทำงานของ Korngold เริ่มจากการดูหนังทั้งเรื่อง (โดยไม่มีดนตรี) แล้วกลับบ้านไปเขียน themes มาจำนวนนึง แล้วเขาก็กลับมานั่งดูหนังอีกรอบ แต่คราวนี้พยายามลองเล่นเปียโนด้วยการด้นสด (improvise) ไปด้วย เล่นไปพร้อมๆ กับที่หนังกำลังฉาย หลังจากนั้นก็ค่อยขัดเกลาเรียบเรียงดนตรีใหม่จนเสร็จ พร้อมแก่การบันทึกเสียงดนตรีประกอบภาพยนตร์
2. John Williams
John Williams ซึ่งเคยเป็นนักเปียโนแจ๊สมาก่อน ก็มักจะเริ่มทำดนตรีประกอบภาพยนตร์จากการ improvise บนเปียโนเช่นกัน แต่แตกต่างจาก Korngold เล็กน้อยตรงที่พอหลังจากดูหนังเสร็จและ improvise บนเปียโนแล้วนั้น เขาจะเขียนดนตรีสำหรับออเคสตราเต็มวงทุกวัน ความยาวดนตรีวันละประมาณ 3 นาที โดยเขียนเป็นสกอร์ย่อส่วน (shorthand score) ใช้เพียงดินสอและกระดาษเท่านั้น
3. Danny Elfman
Janet Halfyard เขียนในหนังสือ Danny Elfman’s Batman: A Film Score Guide ว่า Danny Elfman เริ่มหาแรงบันดาลใจตั้งแต่เริ่มทำงานกับผู้กำกับ ด้วยการไปเยี่ยมชมฉากที่ใช้ในการถ่ายทำ และได้ซึมซับ tone ของหนังจากสถานที่ถ่ายทำจริงก่อนที่เขาจะทำดนตรีประกอบ Danny Elfman ใช้วิธีนี้บ่อยมากตั้งแต่ตอนทำดนตรีประกอบหนังของ Burton เรื่อง Beetlejuice
4. Alex North
Alex North ผู้ทำดนตรีประกอบภาพยนตร์คลาสสิกอย่างเรื่อง A Streetcar Named Desire ก็เริ่มทำงานในช่วง postproduction เช่นเดียวกับคนอื่นๆ แต่เขามักได้รับแรงบันดาลใจจากบทหนัง ก่อนที่หนังจะถูกถ่ายทำด้วยซ้ำ คงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่เพราะ Alex North มีประสบการณ์อย่างมากในการทำดนตรีให้ละครเวที ละครสด ทำให้เขาสามารถตีความบทได้ดีเป็นพิเศษ
5. James Newton Howard
James Newton Howard เริ่มอ่านบทและเขียนดนตรีชุด (suite) ความยาว 10-20 นาทีทันทีจากความประทับใจที่ได้จากการอ่านบท บางครั้งดนตรีอาจจะเปลี่ยนแปลงทีหลัง แต่ไอเดียส่วนมากที่อยู่ในดนตรีชุดนี้ ก็จะถูกนำไปปรับเข้ากับหนังในที่สุด
6. Max Steiner
ในทางกลับกัน Max Steiner นักแต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์รุ่นบุกเบิก กลับไม่เห็นด้วยกับการทำดนตรีจากการอ่านบทเอามากๆ เขาบอกว่าบทหนังมักจะเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีกกว่าจะหนังจะผลิตเสร็จ “ผมไม่เคยเขียนดนตรีจากบท ผมรู้สึกขยาดทุกครั้งที่เห็นบทหนัง” ด้วยเหตุนี้ Max Steiner จึงสบายใจกับการทำดนตรีประกอบในช่วง postproduction มากกว่า
7. Ennio Morricone
ในตอนที่ Ennio Morricone ทำดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง Once Upon a Time in the West นั้น ผู้กำกับ (Sergio Leone) ขอให้ Morricone ทำดนตรีและบันทึกเสียงก่อนที่จะถ่ายทำ แล้วดนตรีนั้นก็ถูกนำไปเปิดในลำโพงในระหว่างการถ่ายทำเพื่อให้นักแสดงเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของฉากต่างๆ อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม การทำงานแบบที่ว่านี้เป็นเคสที่หายากมากและไม่ค่อยมีผู้กำกับชอบทำงานวิธีนี้สักเท่าไหร่นัก ยิ่งไปกว่านั้น บางทีผู้กำกับอาจจะเปลี่ยนใจไม่ชอบเพลงนั้นขึ้นมาแล้วก็ได้ (ทั้งๆ ที่เพลงแต่งเสร็จ อัดเสียงเสร็จหมดแล้ว) อย่างเช่นในกรณีของดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Mosquito Coast ที่บันทึกเสียงเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ผู้กำกับ Peter Weir กลับเปลี่ยน concept ของหนังทีหลัง ทำให้นักแต่งเพลง Maurice Jarre ต้องทิ้งดนตรีที่ทำเสร็จแล้วทั้งหมด แล้วมาเริ่มทำใหม่ตั้งแต่ต้น
บางครั้ง เสียงเล็กๆ น้อยๆ ในหนังก็อาจเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทำดนตรีประกอบได้ ขอยกตัวอย่างเคสของ Morricone อีกครั้งในเรื่อง The Good, the Bad, and the Ugly ที่ธีมหลักเริ่มต้นด้วยการเคลื่อนไปมาระหว่างโน้ตสองตัวที่ห่างกันเป็นคู่สี่ (perfect 4th) แล้วเราก็ยังได้ยินโมทีฟนี้บ่อยๆ ตลอดทั้งเรื่องเพราะมันกลายมาเป็นธีมของตัวละครหลักทั้ง 3 ตัว ซึ่งตรงนี้ Morricone อธิบายว่ามันคือการเลียนเสียงหมาป่าที่หอนในฉากแรกของหนัง
8. Bernard Herrmann
Bernard Herrmann ทำดนตรีประกอบโดยเชื่อสัญชาตญาณของตัวเองเป็นหลัก เขามักจะดู rough cut ของหนังแล้วก็ทำดนตรีเลย เพื่อให้เข้ากับ mood & tone ของฉากต่างๆ Herrmann บอกว่า เขาไม่ค่อยเขียน themes ในแบบดั้งเดิมที่เป็นการใช้ leitmotif (รูปแบบทำนอง รูปแบบจังหวะ ฯลฯ) มาผูกกับตัวละครต่างๆ แต่เขาเชื่อว่าดนตรีประกอบภาพยนตร์มีหน้าที่หลักคือ การเข้าใจความคิดความรู้สึกของตัวละคร และใช้ดนตรีเพิ่มความเข้มข้นนั้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
บทส่งท้าย.. “แล้วแรงบันดาลใจคืออะไร? หาจากไหน? ไม่ต้องมีได้มั้ย?”
คนเรามักจะเข้าใจว่า ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาจากแรงบันดาลใจล้วนๆ ราวกับว่ามีเทวดามาเนรมิตให้ เราคิดว่าคนแต่งเพลงจู่ๆ ก็ได้ยินทุกรายละเอียดในหัวแล้วเพียงแค่จดมันลงไปเป็นโน้ตเพลง เราคิดว่าคนวาดภาพจินตนาการเห็นทุกอย่างอยู่แล้วก่อนจะลงลวดลายลงไปบนผืนผ้าใบ เราเรียกสิ่งนี้ว่า “พรสวรรค์”
ผมไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าพรสวรรค์เป็นเรื่องโกหก แต่ปาฏิหาริย์แบบที่ว่านั้นแทบไม่เคยเกิดขึ้นกับผมเลย คุณอาจจะถามว่า แล้วผมแต่งเพลงได้ยังไง? ผมขออธิบายแบบนี้แล้วกัน.. สำหรับผมแล้วแรงบันดาลใจมันเปรียบเหมือน “เมล็ดพันธุ์” ที่เราหาได้รอบตัวเรา ก็คงเหมือนที่ Korngold และ John Williams หาได้จากการดูหนัง, ที่ Danny Elfman หาได้จากการเข้าไปสัมผัสสถานที่ต่างๆ, หรือที่ James Newton Howard หาได้จากการอ่านบทหนังนั่นแหละ
ผมเชื่อว่าทุกครั้งที่เรารู้สึกประทับใจกับอะไรบางอย่าง การที่เราเกิดความกลัว ความรัก ความโกรธ ความตื่นเต้น ล้วนแต่เป็นแรงบันดาลใจทั้งนั้น แต่ปัญหาคือเราไม่สามารถแปรแรงบันดาลใจเหล่านี้ให้เป็นผลงานศิลปะได้ หรืออาจจะได้แต่ไม่ดีพอ เพราะอะไร? ก็เพราะว่าเรายังไม่มีดินที่จะปลูกเมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ดินที่ว่านี้ผมหมายถึงทักษะและฝีมือ ที่ได้มาจากการความรู้ การฝึกฝน และประสบการณ์ เมล็ดพันธุ์จะดีแค่ไหนก็คงเปล่าประโยชน์ถ้ามันหล่นลงบนดินที่แห้งแล้ง ไม่มีน้ำหรือสารอาหารที่เพียงพอ แรงบันดาลใจก็เช่นกัน
ถ้าให้อธิบายขั้นตอนทำเพลงของผมแบบสั้นๆ ผมมักจะเริ่มจากการทำให้แรงบันดาลใจเล็กๆ เป็น musical element สักอย่างนึงเช่น ทำนอง สเกล จังหวะ หรือทางเดินคอร์ด หลังจากนั้นผมก็ค่อยรดน้ำใส่ปุ๋ยเจ้าไอเดียเล็กๆ นี้ด้วยความรู้ที่ผมพอจะมีอยู่เช่น การเขียนเสียงประสาน, การวางคอร์ด, การเรียบเรียงให้วงดนตรี, การทำ sound design, ฯลฯ จนมันค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น บางวันเราก็อาจจะมีแรงบันดาลใจดีๆ บางวันก็อาจจะไม่ค่อยมี เราควบคุมมันไม่ได้หรอก แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะเรายังได้เห็นมันงอกงามเป็นดนตรีทุกวัน และที่สำคัญมันทำให้เราค่อยๆ เก่งขึ้นทุกวัน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราควบคุมได้
ครั้งต่อไปที่คุณสงสัยว่า “แรงบันดาลใจ” ของศิลปินคนโปรดมาจากไหน ผมอยากให้คุณลองถามตัวเองเพิ่มอีกคำถามนึง ว่าศิลปินคนนั้น “เรียนรู้และฝึกฝน” หนักแค่ไหนกว่าจะไปถึงจุดที่เขายืนอยู่ได้ บางทีคุณเองก็อาจจะเคยมีแรงบันดาลใจที่ดีมากๆ เข้ามาในชีวิตหลายครั้งแล้วก็ได้ เพียงแต่ตอนนั้นคุณแค่ยังไม่พร้อมที่จะพัฒนาไอเดียดีๆ นั้นให้มันเติบโตเท่านั้นเอง ในทางกลับกัน สมมุติว่าถ้าวันนี้คุณเริ่มหัดทำเพลงทุกวัน หาความรู้ใหม่ๆ ทุกวัน เก่งขึ้นทุกวัน ผมเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วเมื่อถึงวันนึงที่แรงบันดาลใจดีๆ เข้ามาในชีวิตคุณ วันนั้นคุณก็จะมีทักษะทุกอย่างที่พร้อมจะพัฒนามันให้กลายเป็นผลงานศิลปะที่มีคุณค่าได้เช่นกัน
“Without craftmanship, inspiration is a mere reed shaken in the wind.”
“หากไม่มีทักษะฝีมือ, แรงบันดาลใจก็เป็นได้เพียงต้นกล้าเล็กๆ ที่สั่นไหวอยู่กลางสายลม”
Johannes Brahms (1833-1897)
Pongsathorn Posayanonth: Film Music Composer
References:
1. Mark Richards. 2012. Where Do Film Composers Get Their Ideas?. (http://www.filmmusicnotes.com/where-do-film-composers-get-their-ideas-2/)
Comments