top of page
Single post: Blog_Single_Post_Widget

ขั้นตอนการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์โดยละเอียดที่คนทำหนังอย่างคุณควรรู้! (2)


^ (Spotting Session ภาพประกอบจาก Jay Rothman, Film Composer)

(บทความนี้เป็นตอนที่ 2 คุณสามารถอ่านบทความตอนที่ 1 ได้ ที่นี่)

Spotting Session

หลังจากที่คุณตัดต่อหนังจนเสร็จและ Export ไฟล์หนังออกมาพร้อม SMPTE Timecode เรียบร้อย ก็ถึงเวลาที่คุณจะนัด Composer มานั่งคุยกันอีกรอบนึง คราวนี้ควรจะเลือกสถานที่ที่มีหน้าจอใหญ่ๆ และลำโพงคุณภาพดีๆ เพราะคุณสองคนจะต้องนั่งดูหนังไปพร้อมๆ กัน โดยส่วนใหญ่แล้วก็มักหนีไม่พ้น Studio ของ Composer นั่นเอง เมื่อคุณเตรียมไฟล์หนังที่มี Timecode (ย้ำหลายรอบเพราะสำคัญมากๆ) และไฟล์เสียงแบบแยก Dialogue, Temp Track, SFX แล้ว ก็โทรไปนัด Composer ของคุณคุยเพื่อทำ Spotting Session ได้เลย

ว่าแต่ Spotting Session มันคืออะไรกันแน่? สำหรับ Composer แล้วมันคือวันสุดท้ายของการนั่งคิดว่าดนตรีประกอบจะเป็นยังไง จะออกมาดีแค่ไหน เพราะหลังจากนี้จะเป็นเวลาที่ต้องเริ่มทำงานจริงๆ แล้ว แต่สำหรับคุณมันคือการบรีฟแบบเจาะลึกให้เขาฟังว่าในแต่ละฉากคุณต้องการคิวดนตรีแบบไหน ทำหน้าที่อะไร เข้ามาตอนไหน และออกไปตอนไหน

จากประสบการณ์ของผมนั้น Director แต่ละคนจะมีวิธีทำ Spotting Session ที่ต่างกัน บางคนก็เปิดหนังให้ดูตั้งแต่ต้น พอถึงจุดที่ควรจะมีคิวเพลงก็กดหยุดแล้วอธิบายให้ผมฟัง ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนจบ บางคนก็พูดทับไปเลยโดยไม่ต้องหยุด บางคนก็กรอไปที่ฉากต่างๆ พูดอธิบายก่อนแล้วค่อยเปิดให้ดู ลองหาวิธีที่คุณถนัด แต่สิ่งสำคัญคือคุณควรจะค่อยๆ เรียงไปตาม Timecode อย่าข้ามฉากไปมาบ่อยนัก อย่าลืมว่าคุณอาจจะนั่งตัดต่อหนังเรื่องนี้มาเป็นเดือนๆ แล้วจนจำได้ขึ้นใจแต่นี่คือครั้งแรกที่ Composer ได้ดูหนังของคุณแบบเต็มเรื่อง

จริงๆ แล้วความแตกต่างของคุณกับ Composer ไม่ใช่แค่ความคุ้นเคยกับหนังเท่านั้น แต่มุมมองในการดูหนังของ Director กับ Composer มันมักจะแตกต่างกันมากๆ ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะธรรมชาติของคนทำหนังจะไวต่อสิ่งที่มองเห็นได้ แต่คนทำเพลงและนักดนตรีจะไวต่อสิ่งที่ได้ยิน ลองสมมุติว่าระหว่างทำ Spotting Session มีฉากนึงที่ตัวละครเดินเข้าไปในร้านทำผม แต่ในชีวิตประจำวันคุณอาจจะไม่เคยเลยสังเกตว่าร้านทำผมจริงๆ แล้วเปิดเพลงรึเปล่า ทุกครั้งที่คุณไปร้านทำผมคุณก็ให้ความสำคัญกับทรงผมของคุณว่าดูดีหรือยัง จะจำได้ก็แค่เสียงเครื่องตัดผมนี่แหละเพราะมันมาจ่ออยู่ใกล้ๆ พอมาทำหนังคุณเลยอาจจะลืมคิดเรื่องดนตรีในฉากนี้ไปซะสนิท แต่ Composer ของคุณอาจจะรู้สึกได้ทันทีว่าฉากนี้มันยังดูไม่ค่อยสมจริงเท่าไหร่ ถ้าตัวละครเดินเข้าไปในร้านทำผมก็ต้องได้ยินเพลงสิ แล้วร้านแบบนี้ปกติน่าจะเปิดเพลงแนวนี้ เป็นต้น

Cue Sheet

เมื่อ Spotting Session สิ้นสุดลง Composer ของคุณก็จะจดรายละเอียดของคิวดนตรี (Music Cue) ทุกคิวที่คุณต้องการ แล้วกลับไปเขียนสรุปมาเป็น Cue Sheet ให้คุณ คำว่าคิวนั้นหมายถึงการเข้ามาของดนตรี เช่น M01 คือคิวดนตรีคิวแรก เข้ามาตอนนาทีที่ 00:00 , M02 คือคิวดนตรีคิวที่สอง เข้ามาตอนนาทีที่ 00:09, เรียงแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตัวอักษร M นั้นย่อมาจาก Music นั่นเอง ถ้าคุณยังนึกภาพไม่ออก ลองมาดูตัวอย่าง Cue Sheet ด้านล่างกันดีกว่า:

^ (Cue Sheet ของ BBC Wildlife Documentary - Natural World)

(ภาพประกอบจาก William Goodchild , Media Composer ซึ่งเป็นอาจารย์ของผมครับ)

ข้อมูลพื้นฐานที่ควรจะอยู่ใน Cue Sheet ประกอบด้วย

  • Cue ID - เลขคิว M01, M02 จริงๆ แล้วสมัยก่อนที่การถ่ายทำหนังยังใช้ฟิล์ม เลขคิวจะมีเลขข้างหน้าตัว M ด้วยซึ่งเราเรียกว่าเลขม้วน (Reel) เช่น 1M01 แปลว่า ม้วนที่ 1 คิวดนตรีคิวที่ 1

  • ชื่อคิว - ชื่ออะไรก็ได้ที่อธิบายบทบาทของคิวนั้นๆ หรือความสัมพันธ์กับสิ่งที่เกิดขึ้นในหนัง

  • TC IN และ TC OUT - คือ Timecode ที่ดนตรีเริ่มและจบลง ในระบบ SMPTE Timecode ฟอร์แมตพื้นฐานจะเป็น [ชั่วโมง:นาที:วินาที:เฟรม] โดยทั่วไปจะนิยมเริ่มต้นที่ 10:00:00:00 ให้สังเกตว่าเลขชั่วโมงไม่เริ่มที่ 0 เพราะเผื่อไว้ให้ Countdown ก่อนหนังเริ่ม

  • Action IN และ Action OUT - เหมือน TC แต่เขียนอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในฉากในจุดที่ดนตรีเข้า-ออก

  • Duration - ระยะเวลาของดนตรี มีไว้เพื่อแสดงความยาวของแต่ละคิว และทำให้สามารถสรุปความยาวทั้งหมดของดนตรีในหนังเรื่องนี้ได้

  • Note - เอาไว้สำหรับจดรายละเอียดทุกอย่างของแต่ละคิวดนตรีที่ Director บอกไว้ใน Spotting Session โทนเสียง อารมณ์ บทบาท เครื่องดนตรี ลักษณะทำนอง บรรยากาศ ฯลฯ

เมื่อ Composer ทำ Cue Sheet เสร็จหน้าที่ของคุณคือตรวจให้ละเอียดว่าตรงกับสิ่งที่คุณต้องการมากน้อยแค่ไหน เพราะนี่จะเป็นสิ่งที่คุณและ Composer ตกลงร่วมกัน แม้ว่าดนตรีที่ทำออกมาจะมีการแก้ไขได้บ้างเล็กน้อย แต่ก็ไม่ควรเปลี่ยนแปลงคิวดนตรีที่เสร็จแล้วมากเกินไป เช่นขอเปลี่ยนจากเพลงช้าเป็นเพลงเร็ว ขอเปลี่ยนเวลาเข้า-ออกของคิว หรือเปลี่ยนจากออเคสตราทั้งวงเหลือแค่เปียโนตัวเดียวทั้งๆ ที่ Composer เรียบเรียงจนเสร็จไปแล้ว

เมื่อคุณยืนยันว่า Cue Sheet ตรงกับสิ่งที่คุณต้องการแล้ว Composer ก็จะพยายามทำเพลงตาม Cue Sheet อย่างเคร่งครัด รายละเอียดทุกอย่างเช่นเวลาเข้าและเวลาออกของคิว การสลับมุมกล้อง เสียง SFX บทพูด ล้วนส่งผลโดยตรงต่อการทำดนตรี เพราะหน้าที่ของ Composer คือการทำดนตรีขึ้นมาเพื่อซัพพอร์ทฉากๆ นี้ของหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ องค์ประกอบของดนตรีทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นทำนอง จังหวะ เสียงประสาน หรือการเรียบเรียง จะต้องลงตัวกับองค์ประกอบของภาพ มุมกล้องต่างๆ และเสียง SFX ตลอดจนบทพูดทั้งหมดที่เกิดขึ้นด้วย

หลังจาก Director พอใจกับ Cue Sheet แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นหน้าที่ของ Composer ในการลงมือทำเพลงประกอบแล้วล่ะครับ สำหรับบทความนี้ผมตั้งใจเขียนขึ้นมาเพื่อให้คนทำหนังได้เข้าใจขั้นตอนการทำงานร่วมกับคนทำเพลงประกอบมากขึ้น มาถึงจุดนี้ผมคาดว่าได้ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดที่ Director/Filmmaker ควรจะรู้แล้ว ขอขอบคุณทุกท่านที่อ่านมาจนถึงจุดนี้ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าครับ ;-)

 

Pongsathorn Posayanonth: Film Music Composer

2,666 views

Comments


bottom of page