top of page
Single post: Blog_Single_Post_Widget

ขั้นตอนการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์โดยละเอียดที่คนทำหนังอย่างคุณควรรู้! (1)


ไม่ว่าคุณจะเป็นคนทำหนังมืออาชีพหรือมือสมัครเล่น ไม่ว่าคุณคิดจะทำหนังสั้น 12 นาทีหรือยาวสองชั่วโมง สิ่งนึงที่แทบจะขาดไม่ได้เลยคือดนตรีประกอบ จริงอยู่ที่ทุกวันนี้มีดนตรีให้ดาวน์โหลดทั่วไปตามอินเตอร์เน็ต ติดลิขสิทธิ์บ้าง ไม่ติดลิขสิทธิ์บ้าง แต่เพลงพวกนั้นก็มักจะไม่ได้ถูกใจคุณ 100% (แน่ล่ะ ก็มันไม่ได้เขียนมาให้หนังของคุณโดยเฉพาะนี่) คุณลองมองหา Music Composer ที่พอจะทำเพลงให้คุณได้ แต่ก็ต้องมาปวดหัวกับการตอบคำถามว่า “อยากได้ซาวน์แบบไหนล่ะ” บางทีคิดว่าอธิบายไปชัดเจนแล้วนะ แต่งานออกมาก็ไม่ใช่ที่คุณอยากได้ ต้องมาเสียเวลาสั่งแก้งานกันอีก... เรามาลองดูกันดีกว่าว่า Director กับ Composer ในระดับมืออาชีพเค้าร่วมงานกันยังไงให้งานออกมาเนี้ยบ เป๊ะ ถูกใจกันทั้งสองฝ่าย

1. บรีฟแรก

เวลา Composer ถามคุณว่า “อยากได้ซาวน์แบบไหนล่ะ” นั่นคือเขาเปิดโอกาสให้คุณบรีฟงาน ปกติคนทำเพลงประกอบที่ดีจะต้องซัพพอร์ทไอเดียหรือมุมมองของคุณ อาจจะเสนอไอเดียตัวเองบ้างแต่จะต้องไม่แย่งคุณคิด จุดนี้สำคัญมากๆ คำตอบที่แย่ที่สุดที่คุณจะตอบได้คือ “ยังไงก็ได้” เพราะนอกจากคุณจะไม่สามารถควบคุมทิศทางของดนตรีได้แล้ว ยังอาจจะสร้างความลำบากใจให้ Composer ด้วย (เหมือนเวลาคุณถามเพื่อนว่ากินอะไรดีแล้วเขาตอบว่า “อะไรก็ได้” นั่นแหละ)

การบรีฟที่ถูกต้องคือคุณต้องเป็นผู้นำและ Composer จะเป็นผู้ตาม เขาจะพยายามเข้าใจไอเดียของคุณที่ยังจับต้องไม่ได้ และปรับให้เข้ากับการแต่งเพลงของเขา เพื่อที่ดนตรีที่ทำออกมาจะได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่คุณต้องการ แต่อย่ากังวลไปถ้าคุณยังไม่รู้จะเริ่มบรีฟยังไง ลองเริ่มจากคำถามด้านล่างนี้ดูก่อนสิ:

  • จุดประสงค์ของดนตรีประกอบในหนังเรื่องนี้คืออะไร? (เช่น สร้างความตึงเครียดของฉาก, บ่งบอกสถานที่ในท้องเรื่อง, สะท้อนอารมณ์ตัวละครหลัก, ฯลฯ)

  • แล้วพอมีไอเดียมั้ยว่าดนตรีประกอบหนังเรื่องนี้จะเป็นเสียงเครื่องดนตรีอะไรบ้างดี?

  • มีเครื่องดนตรีอะไรที่คุณชอบมาก / เกลียดสุดๆ บ้างมั้ย?

  • ขนาดของกลุ่มเครื่องดนตรีที่คุณคิดไว้?

  • ตอนทำฉากนี้คุณนึกถึงดนตรีประกอบอันไหนเป็นพิเศษรึเปล่า?

  • ตอนตัดต่อคุณใช้ temp track รึเปล่า แล้วมีอะไรที่คุณชอบ/ไม่ชอบ ใน temp นั้น?

  • คุณชอบดนตรีแบบเป็นทำนอง หรือแบบเป็นบรรยากาศมากกว่ากัน?

  • คุณอยากได้ดนตรีมากกว่า หรือน้อยกว่าใน temp track?

  • คุณคิดว่าดนตรีประกอบอันใหม่ จะสัมพันธ์กับเสียงในฟิล์มที่คุณมีอยู่แล้วยังไงบ้าง?

  • คุณเคยทำงานร่วมกับ composer คนอื่นๆ มาก่อนรึเปล่า การร่วมงานตอนนั้นมีอะไรที่ทำให้คุณรู้สึกปวดหัวบ้าง? หรือมีอะไรที่คุณชอบมากๆ บ้างมั้ย?

  • คุณคิดว่าเราจะทำงานร่วมกันยังไงดี? (รายละเอียดปลีกย่อยเช่นส่งดราฟท์ แก้งาน อัพเดทงาน ฯลฯ)

  • ช่องทางการรับ-ส่งไฟล์ระหว่างทำงานที่คุณสะดวก? (Google Drive, Dropbox, WeTransfer, ฯลฯ)

ลองใช้เวลาสัก 10 นาทีเตรียมตัวตอบคำถามเหล่านี้ก่อนไปบรีฟงาน คำตอบของคำถามพวกนี้แหละคือสิ่งที่ Composer อยากรู้เวลาเขาถามคุณว่าอยากได้ดนตรีแบบไหน ส่วนตัวผมคิดว่าบรรยากาศในการบรีฟควรจะสบายๆ ไม่เครียดจนเกินไป เพื่อให้คุณทั้งคู่รู้สึกสนุกและตื่นเต้นที่จะได้แชร์ไอเดียกัน อาจจะเป็นมุมสบายในร้านกาแฟร้านโปรดของคุณ อย่าลืมเตรียมโน้ตบุ้คกับหูฟังไปด้วยเผื่อสำหรับเปิดเพลงให้ Composer ของคุณฟังระหว่างการบรีฟ

2. Moodboard

หลังจากการบรีฟเสร็จสิ้นไปด้วยดีและคุณกลับบ้านไปนั่งตัดต่อหนังให้เสร็จ รู้ไหมว่าช่วงเวลานี้ Composer ของคุณทำอะไร? สิ่งนึงที่ Composer บางคนทำก่อนที่จะเริ่มเขียนเพลงคือการจัดเรียง Moodboard (การตัดวีดีโอฉากต่างๆ ในหนังเรื่องอื่นๆ หรือเพลงเก่าๆ ที่เคยแต่งไว้ มารวมกันไว้ให้เห็นความต่อเนื่องของอารมณ์และโทนของโปรเจ็ค) เขาอาจจะลองส่งมาให้คุณตรวจดูว่าตรงกับ Mood & Tone ที่คุณต้องการมั้ย คุณก็จะเริ่มเห็นแล้วว่า Composer ตีความสิ่งที่คุณบรีฟไปยังไงบ้าง อะไรเวิร์ค อะไรไม่เวิร์ค แต่อย่าลืมว่า Moodboard เป็นแค่ไอเดีย คุณควรโฟกัสที่ภาพรวมและความต่อเนื่องโดยอย่าไปยึดติดกับดนตรีที่อยู่ในนั้นมากเกินไป

3. การทำ Template

ในขั้นตอนนี้ Composer จะเริ่มสรุปได้แล้วว่าเขาจะต้องใช้เครื่องดนตรีอะไรบ้างในโปรเจ็คที่ทำร่วมกับคุณ เครื่องดนตรีทั้งหมดที่ใช้ในหนังทั้งเรื่องจะถูกนำมาจัดเรียงกันในซอฟท์แวร์เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเริ่มแต่งเพลง เราเรียกขั้นตอนนี้ว่า “การทำ Template”

จริงๆ แล้ว Composer บางคนอาจจะสร้าง Template ขนาดยักษ์ที่รวมทุกอย่างที่เขามีไว้อยู่แล้ว เช่น Template ขนาด 300-500 tracks มีทุกอย่างตั้งแต่เครื่องดนตรีทุกชิ้นในวงออร์เคสตราไปจนถึง Synthesizer ต่างๆ แต่การทำแบบนี้จำเป็นต้องใช้สเป็คคอมสูง และการมีทุกอย่างพร้อมใช้งานบางครั้งอาจทำให้เลือกไม่ถูก เพราะมัวแต่กังวลกับการเลือกเสียงแทนที่จะลงมือแต่งเพลงจริงๆ หลายครั้งการที่เรามีทรัพยากรณ์น้อยๆ จำกัดอยู่ตรงหน้ามันจะทำให้เราเกิดความคิดสร้างสรรค์มากกว่าอย่างคาดไม่ถึง

An example of film scoring template

(ภาพประกอบ: ตัวอย่าง Template สำหรับดนตรีประกอบภาพยนตร์)

ข้อดีของการทำ Template คือทุกๆ คิวเพลง (Cue) จะมีการจัดการที่เป็นระบบระเบียบเหมือนกันหมดตั้งแต่คิวฉากเปิดหนังจนถึงคิวเครดิตตอนจบ ทั้งยังง่ายแก่การนำไปทำ Mixing & Mastering (กระบวนการสุดท้ายก่อนจะส่งแทร็คที่สมบูรณ์ให้คุณ) อีกด้วย ลองคิดดูว่ามันจะวุ่นวายแค่ไหนถ้าแต่ละคิวเพลงมีความดังเบาไม่เท่ากัน เครื่องดนตรีถูกแพนไปคนละทิศละทางกันมั่วไปหมด

เมื่อทำ Template เสร็จ Composer ก็พร้อมที่จะแต่งเพลงให้กับหนังของคุณแล้ว ในขั้นตอนนี้ถ้าหนังของคุณยังตัดต่อไม่เสร็จ Composer อาจจะลองทำเพลงมาให้คุณฟังเป็นตัวอย่างสัก 1-3 เพลงสั้นๆ (น้อยกว่า 30 วินาที) เพื่อพอเป็นไอเดีย เราจะเรียกเพลงเหล่านี้ว่า Theme Suite

แต่ทันทีที่หนังของคุณตัดต่อเสร็จ (จะต้องเป็น Picture Lock คือไม่มีการเพิ่ม-ลด/ยืด-หด ส่วนใดๆ ของหนังอีกแล้ว SMPTE Timecode ต้องไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว อาจจะมีการแก้ไขเล็กน้อยเช่น Colour Grading เท่านั้น) นั่นคือเวลาที่ Director และ Composer จะมานั่งคุยกันอีกครั้งเพื่อวางแผนเกี่ยวกับคิวเพลงแต่ละคิวในหนัง

เตรียม Export งานของคุณออกมาเป็นไฟล์หนังแบบ Burnt-in Timecode* ได้เลย อย่าลืมแยก Track เสียงออกมาเป็น 3 stems (Stem 1 = เสียงบทพูดทั้งหมด, Stem 2 = เสียง SFX ทั้งหมด, และ Stem 3 = ดนตรี Temp Track ที่คุณใช้ตัดต่อ) ด้วย ตอนนี้คุณพร้อมสำหรับ Spotting Session แล้ว

ในบทความหน้าผมจะมาพูดถึงขั้นตอนต่อไปนั่นก็คือ "Spotting Session และการทำ Cue Sheet" หวังว่าบทความแรกของผมนี้จะให้ประโยชน์กับผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะครับ แล้วพบกันครับ ;-)

*อ่านต่อ ตอนที่ 2: Spotting Session และการทำ Cue Sheet ได้ที่นี่

 

Pongsathorn Posayanonth: Film Music Composer

8,578 views
bottom of page