ดนตรีประกอบภาพยนตร์สยองขวัญ: เสียงที่หลอกหลอนเรามากว่าหนึ่งศตวรรษ
ถ้าพูดถึงภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องที่น่ากลัวที่สุด เพื่อนๆ คิดว่าคือเรื่องอะไร? แล้วคิดว่าอะไรที่ทำให้มันน่ากลัว? เป็นเพราะเนื้อเรื่อง, เพราะความน่าเกลียดน่ากลัวของฆาตรกร, เพราะมุมกล้องและโทนสีของภาพ, หรือเพราะการออกแบบเสียงและดนตรีประกอบภาพยนตร์?
สำหรับผม ผมคิดว่ามันคือส่วนผสมของทุกอย่างที่พูดมานั่นแหละ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าดนตรีประกอบภาพยนตร์สยองขวัญมีบทบาทสำคัญมากๆ ที่ทำให้เรารู้สึกกลัวจนบางครั้งอาจจะถึงกับนอนไม่หลับ หรือไม่กล้าอยู่คนเดียวในที่มืดๆ ไปหลายวัน (ถ้าไม่เชื่อลองกลับไปดูหนังผีเรื่องนั้นอีกครั้งแบบปิดเสียงดูสิ)
ว่าแต่.. เพื่อนๆ รู้มั้ยครับว่าภาพยนตร์สยองขวัญเนี่ย มันมีมาตั้งแต่ช่วงคาบเกี่ยวระหว่างปลายศตวรรษที่ 19 เข้าศตวรรษที่ 20 หรือราวๆ 100 ปีที่แล้วเลยทีเดียว วันนี้เราเลยจะมาสำรวจกันว่าดนตรีประกอบภาพยนตร์สยองขวัญมันมีที่มาที่ไปอย่างไร มีบทบาทอะไรบ้าง และที่สำคัญ.. ความน่ากลัวของมันวิวัฒนาการมายังไง ถึงได้หลอกหลอนเราได้มาเป็นร้อยปี เพื่อไม่ให้เสียเวลาเรามาเริ่มกันที่ยุคแรกเลยครับ
Silent Film Era (1895 - 1936)
ย้อนเวลากลับไปในยุคภาพยนตร์เงียบ เป็นยุคที่ภาพยนตร์ยังไม่มีการบันทึกเสียงใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีดนตรี, ไม่มีเสียง Effect, ไม่มีแม้แต่บทพูดของตัวละคร การเล่าเรื่องจะใช้ภาพเคลื่อนไหวสลับกับ title cards ซึ่งเป็นตัวอักษรโผล่ขึ้นมาบนจอ สลับกับฉากต่างๆ เพื่อเล่าเรื่องและสื่อสารกับผู้ชม
แม้ว่าเทคโนโลยีการผลิตภาพยนตร์ขณะนั้นจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่หลายๆ คนคงทราบดีว่า ดนตรีตะวันตกในศตวรรษที่ 20 มันพัฒนามาจนถึงจุดที่ค่อนข้างจะอิ่มตัวมากๆ แล้ว มีระบบการบันทึกโน้ตที่เป็นมาตรฐานแล้ว เครื่องดนตรีต่างๆ ก็พัฒนาเต็มที่ มีวงออร์เคสตราใหญ่ๆ มีการแสดงคอนเสิร์ต มีงานเขียนทฤษฎีดนตรีต่างๆ จำนวนมาก
ด้วยเหตุนี้ ดนตรี ก็เลยถูกนำมาสนับสนุนภาพยนตร์เงียบเพื่อช่วยสร้างบรรยากาศและเล่าเรื่อง โดยมักจะมีการจ้างนักเปียโน, นักออร์แกน, หรือแม้กระทั่งวงออร์เคสตราขนาดเล็กเพื่อบรรเลงประกอบการฉายภาพยนตร์อยู่เสมอ ดนตรีประกอบภาพยนตร์ในยุคนี้อาจจะเป็นสกอร์เป็นเรื่องเป็นราวเลย หรืออาจจะเป็นการบรรเลงแบบด้นสด (improvisation) ของนักเปียโนหรือนักออร์แกนก็ได้
ภาพยนตร์สยองขวัญที่โดดเด่นในยุคนี้ได้แก่เรื่อง The Cabinet of Dr. Caligari (1920) และ Nosferatu (1922) ซึ่งดนตรีประกอบของทั้งสองเรื่องถูกเขียนขึ้นใหม่ (re-scored) หลายครั้ง และสกอร์ดนตรีประกอบดั้งเดิมของ Nosferatu ก็ไม่สามารถอยู่รอดมาถึงปัจจุบันได้
ความไม่แน่นอนและไม่ลงตัวของสกอร์นี้ ทำให้เราไม่สามารถวิเคราะห์ดนตรีประกอบภาพยนตร์สยองขวัญสองเรื่องดังกล่าวได้ เพราะการฉายหนังแต่ละครั้ง แต่ละที่ อาจจะใช้ดนตรีที่ไม่เหมือนกันเลยก็เป็นได้
ยุคของภาพยนตร์เงียบค่อยๆ หมดลงตั้งแต่ปี 1927 เมื่อบริษัท Warner Bros. สร้างหนังเรื่องแรกที่มีเสียงบทพูดของตัวละคร (Dialogues) ได้สำเร็จ ชื่อว่า The Jazz Singer (1927) ทำให้ภาพยนตร์แบบมีเสียงพูด (มีชื่อเรียกว่า Early Sound Films, Talking Pictures, หรือ Talkies) เริ่มเข้ามาแทนที่ภาพยนตร์เงียบโดยสมบูรณ์ในราวๆ ปี 1936
The Golden Age of Hollywood (1915 - 1963)
ยุคทองของ Hollywood คือยุคเริ่มรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในอเมริกา มีวิวัฒนาการต่างๆ มากมายเกิดขึ้นในยุคนี้เช่น ระบบสตูดิโอทำภาพยนตร์, วิวัฒนาการจากภาพยนตร์ขาว-ดำเป็นภาพยนตร์สี, ภาพยนตร์แบบมีบทพูด, กำเนิดรางวัลออสการ์, การเซ็นเซอร์เนื้อหาในภาพยนตร์บางเรื่อง, และการริเริ่มทำการ์ตูนแอนิเมชั่น
ภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องแรกๆ ที่สำคัญในยุคนี้ได้แก่ The Bride of Frankenstein (1925) ซึ่งกำกับโดย James Whale และประพันธ์ดนตรีประกอบฯ โดย Franz Waxman
สกอร์ของหนังเรื่อง The Bride of Frankenstein มีลักษณะยิ่งใหญ่อลังการและมีสีสันตามสไตล์ดนตรีในยุคโรแมนติก ในฉากที่มีความลุ้นระทึก ก็จะใช้กลอง timpani ตีเป็นจังหวะเหมือนหัวใจเต้น (เรียกว่า pulse) แต่ตัวสกอร์แทบจะไม่มีความแนบเนียน (subtlety) เลย คือได้ยินชัดตลอดทั้งเรื่อง คิวดนตรีต่างๆ ก็เข้ามาแบบโฉ่งฉ่าง การเน้น hitpoint สำคัญๆ ก็ใช้เสียงดังๆ เข้าไว้
(ตัวอย่าง #1: The Bride of Frankenstein ลองฟังคลิปด้านล่างตั้งแต่ 2:15 เป็นต้นไป)
ต่อมาก็ภาพยนตร์สยองขวัญอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจในยุคนี้ ได้แก่ The Horror of Dracula (1958) กำกับโดย Terence Fisher และประพันธ์ดนตรีประกอบโดย James Bernard
สิ่งที่น่าสนใจในสกอร์ของ The Horror of Dracula คือการใช้ theme ของ Dracula ซึ่งประกอบด้วยโน้ต 3 ตัวและสะท้อนถึงบุคลิกความน่ากลัวแบบหลบๆ ซ่อนๆ ของเขา โดย theme ดังกล่าวจะบรรเลงทุกครั้งที่เราเห็น Dracula หรือมีตัวละครตัวอื่นพูดถึงเขา และบางครั้งก็มีการใช้จังหวะดนตรีเพื่อ synchronise กับการเคลื่อนไหวของ Dracula ด้วย
โดยรวมแล้วดนตรีประกอบของเรื่องนี้ยังคล้ายๆ กับเรื่อง The Bride of Frankenstein อยู่ คือดนตรีเป็นสไตล์โรแมนติก ค่อนข้างชัดเจนโผงผาง ไม่ค่อยปล่อยให้มีโม้เม้นท์เงียบๆ ในหนัง แต่ก็ถือเป็นตัวสร้างความน่ากลัวหลักให้กับหนังในยุคนี้
(ตัวอย่าง #2: Trailer ของหนังเรื่อง The Horror of Dracula)
หากวิเคราะห์บทบาทของสกอร์ของดนตรีประกอบภาพยนตร์สยองขวัญในยุค Golden Age of Hollywood จะเห็นว่า ดนตรีได้รับอิทธิพลจากดนตรีในยุคโรแมนติกมากๆ ความน่ากลัวค่อนข้างชัดเจนและตรงไปตรงมา คือใช้เสียงดังๆ บอกว่าตัวร้ายโผล่ออกมาแล้วนะ แล้วก็ประโคมดนตรีเข้าไปเพื่อเน้น hitpoint ที่สำคัญต่างๆ
เทคนิกที่น่าสนใจในสกอร์ยุคนี้คือการสร้าง pulse หรือจังหวะหัวใจเต้นตุบๆ, การใช้ theme (เรียกอีกอย่างว่า leitmotif) ซึ่งเป็นทำนองหลักของตัวร้าย, และการปรับจังหวะดนตรีให้เข้ากับการเคลื่อนไหวของตัวร้าย
แม้เทคนิกต่างๆ ข้างต้นจะใช้ได้ผลอย่างมากในยุคนั้น แต่สำหรับคนปัจจุบันหากย้อนกลับไปดูหนังเก่าๆ เหล่านี้ก็อาจจะไม่ค่อยรู้สึกกลัวเท่าไหร่แล้วก็ได้ เพราะความชัดเจนของดนตรีทำให้คนดูคาดเดาได้ง่ายเกินไปว่าจะเกิดอะไรขึ้น
จุดเปลี่ยนที่สำคัญ: Psycho (1960)
ภาพยนตร์เรื่อง Psycho กำกับโดย Alfred Hitchcock และดนตรีประกอบโดย Bernard Herrmann แทบจะถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่สุด ในประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์สยองขวัญเลยก็ว่าได้ (รวมถึงดนตรีประกอบด้วย)
ก่อนที่ผมจะพูดอะไรไปมากกว่านี้ เราลองมาฟังเพลงเปิดของภาพยนตร์เรื่อง Psycho กันก่อนดีกว่า
(ตัวอย่าง #3: Opening credits จากภาพยนตร์เรื่อง Psycho)
ถามว่าดนตรีมันน่ากลัวมั้ย ผมว่ามันก็น่ากลัวนิดๆ น่ะแหละ แต่ถ้าลองฟังดีๆ สกอร์มันแค่ให้ความรู้สึก “ผิดปกติ” เหมือนมีอะไรที่ไม่คาดคิดกำลังจะเกิดขึ้นในการเดินทางครั้งนี้เฉยๆ แต่ไม่ได้ใช้เสียงดังอึกทึกของออร์เคสตราเหมือนภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องก่อนๆ
เทคนิกของ Bernard Hermann คือการค่อยๆ แทรกดนตรีเข้ามาอย่างแนบเนียน (Subtle) ทำให้คนดูไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ฆาตรกรอาจจะโผล่มาหรืออาจจะไม่โผล่มาก็ได้ การสร้างความรู้สึกไม่ชอบมาพากลแบบนี้ ก็เพื่อปูบรรยากาศให้กับเทคนิกอีกอย่างนึงที่เรียกว่า “Jump Scare” ซึ่งก็คือการทำให้คนดูสะดุ้งตกใจตรง hitpoint ที่จู่ๆ ฆาตรกรก็โผล่เข้ามาในฉากนั่นเอง
(ตัวอย่าง #4: Psycho ลองดูคลิปด้านล่างตั้งแต่ 1:00 เป็นต้นไป)
เทคนิก Jump Scare ในภาพยนตร์เรื่อง Psycho ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะมันส่งอิทธิพลให้ภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องอื่นๆ ต่อมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน จนเดี๋ยวนี้มันกลายเป็นเอกลักษณ์ของหนังสยองขวัญไปซะแล้ว
Jaws (1975)
พูดถึงความแนบเนียนหรือ subtlety นั้น ภาพยนตร์เรื่อง Jaws (1975) กำกับโดย Steven Spielberg และทำดนตรีประกอบโดย John Williams ถือเป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ ในการสร้างความน่ากลัวด้วยความแนบเนียนและลึกลับ
โดยสกอร์ของ John Williams ใช้ theme ของปลาฉลามที่สร้างจากโน้ตแค่ 2 ตัว (เป็นการใช้ leitmotif เหมือนใน The Horror of Dracula) แต่จังหวะของโน้ตสองตัวนี้จะบ่งบอกคนดูว่าปลาฉลามเข้าใกล้ตัวละครแค่ไหนแล้ว เพราะยิ่งใกล้ จังหวะของโน้ต 2 ตัวนี้ก็จะเร็วขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นเทคนิกที่เรียบง่ายแต่ได้ผลอย่างมาก
(ตัวอย่าง #5: Leitmotif โน้ต 2 ตัวใน Jaws)
The Omen (1976) - เสียงมนุษย์ในดนตรีประกอบภาพยนตร์
เพียงหนึ่งปีหลังจากการฉายภาพยนตร์เรื่อง Jaws ก็มีเทคนิกการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์สยองขวัญใหม่ๆ มาสร้างความหวาดกลัวให้คนดูอีกแล้ว ในภาพยนตร์เรื่อง The Omen (1976) กำกับโดย Richard Donner ดนตรีประกอบโดย Jerry Goldsmith
สกอร์ของ The Omen ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญใน 2 เรื่อง เรื่องแรกคือการนำเสียงของมนุษย์มาใช้ในซาวด์แทร็กภาพยนตร์สยองขวัญ ส่วนอีกเรื่องนึงที่น่าสนใจคือ ไอเดียของสกอร์นี้ ความน่ากลัวมันไม่ได้มาจากการใช้ดนตรีสื่อบุคลิกของตัวร้ายเหมือน The Jaws, มันไม่ได้เร้นลับพิศวงเหมือนใน Psycho, แต่ไอเดียของมันคือ การใช้เสียงมนุษย์เพื่อทำให้คนดูรู้สึกว่า ดนตรีที่เขาได้ยินในหนังนั้น เป็นดนตรีที่ร้องออกมาจากขุมนรก
(ตัวอย่าง #6: The Omen ดนตรีเริ่มประมาณ 0:18)
หลังจากเรื่อง The Omen เราก็ได้เห็นภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องอื่นๆ เริ่มนำเสียงมนุษย์มาใช้ อาทิ Friday the 13th (1980) กำกับโดย Sean S. Cunningham ดนตรีประกอบโดย Harry Manfredini, และเรื่อง Suspiria (1977) กำกับโดย Dario Argento ดนตรีประกอบโดย Goblin
การใช้เสียงมนุษย์ของสองเรื่องหลังนี้ มีความแตกต่างจาก The Omen เล็กน้อยคือเป็นการใช้เสียงกระซิบ ที่นำไป process กับเอฟเฟกต์ต่างๆ เช่น echo delay เพื่อให้ฟังดูลึกลับน่ากลัว สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของสกอร์เรื่อง Suspiria นี้ คือการริเริ่มใช้ synthesiser สังเคราะห์เสียงและอิทธิพลจากดนตรี Rock n’ Roll ที่ปรากฏอยู่ในซาวด์แทร็กด้วย
(ตัวอย่าง #7: Trailer ภาพยนตร์เรื่อง Suspiria)
Halloween (1978) - อิทธิพลของ Synthesiser
ภาพยนตร์เรื่อง Halloween (1978) กำกับและทำดนตรีประกอบเองโดย John Carpenter นำเสนอความน่ากลัวแบบใหม่ให้แก่ภาพยนตร์สยองขวัญ คือทำให้ภัยคุกคามเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น แทนที่จะเป็นเรื่องของภูติผีปีศาจที่อยู่ในปราสาทลึกลับอันห่างไกล คราวนี้เป็นผีหรือฆาตรกรที่ปรากฏตัวให้เห็นบ่อยๆ รอบๆ บ้านของตัวละคร
(ตัวอย่าง #8: Trailer ภาพยนตร์เรื่อง Halloween)
สกอร์ John Carpenter ใช้ดนตรีที่ค่อนข้าง minimal เรียบง่าย ไม่ใช่เสียงออร์เคสตราใหญ่ๆ เหมือนเมื่อก่อนแล้ว ในขณะเดียวกันอิทธิพลของ synthesiser ก็มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์สยองขวัญในยุคนี้ ซึ่งนอกจากเรื่อง Halloween แล้ว ก็ยังมีเรื่อง Phantasm (1979), และ The Keep (1983) ที่พยายามสร้างดนตรีประกอบภาพยนตร์ด้วย synth เป็นหลัก
เหตุผลหลักข้อนึงคือมันประหยัดงบกว่าการจ้างออร์เคสตร้าด้วย ยุคนี้เป็นยุคเริ่มต้นที่ film composer เริ่มทำเพลงด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้องจ้างนักดนตรี ผู้กำกับก็ไม่ต้องจ่ายเยอะเหมือนแต่ก่อน ส่วนตัว composer ก็ไม่ต้องแบ่งค่าคอมมิชชั่นไปให้นักดนตรี win-win ทั้งสองฝ่าย ยุคนี้จึงเป็นยุคที่หนัง low budget เริ่มมีสกอร์เป็นของตัวเอง
(ตัวอย่าง #9: Trailer ภาพยนตร์เรื่อง Phantasm)
Videodrome (1983) - การผสมผสานเครื่องดนตรีเข้ากับ synth
"ออร์เคสตราก็มีแล้ว synth ก็มีแล้ว... แล้วถ้าลองเอาสองอย่างมาผสมกันล่ะ?"
สกอร์ของภาพยนตร์เรื่อง Videodrome (1983) กำกับโดย David Cronenberg ดนตรีประกอบโดย Howard Shore เป็นตัวอย่างแรกๆ ของการผสมผสานเสียงของวงออร์เคสตราเครื่องสายเข้ากับ synth อย่างลงตัว โดยการบันทึกเสียงแยกกัน แล้วนำไป mix กันในคอมพิวเตอร์ภายหลัง เพื่อสะท้อนถึงอัตลักษณ์แปลกแยกของตัวละครหลัก
(ตัวอย่าง #10: ดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง Videodrome)
ผู้กำกับ Stanley Kubrick และเทคนิกการใช้ “Repurposed Music”
Stanley Kubrick (1928 - 1999) เป็นผู้กำกับที่มีอิทธิพลอย่างมากในวงการภาพยนตร์คนหนึ่ง ภาพยนตร์ของเขาส่วนมากดัดแปลงมาจากวรรณกรรมและเรื่องสั้น โดดเด่นด้วยการใช้มุมกล้อง (cinematography) และการใช้ดนตรีที่มีอยู่แล้ว (pre-existed music) แต่นำมาใส่ในบริบทใหม่ของภาพยนตร์เพื่อให้สื่อความหมายใหม่ เราเรียกเทคนิกนี้ว่า “Repurposed Music”
ภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องแรกๆ ที่เขาใช้เทคนิกนี้คือ The Shining (1980) ที่มีการนำบทประพันธ์ Symphonie Fantastique ของคีตกวีชาวฝรั่งเศส Hector Berlioz มาผสมเข้ากับ synthesiser เพื่อทำเป็นดนตรีประกอบภาพยนตร์
(ตัวอย่าง #11: การดัดแปลง Symphonie Fantastique ในดนตรีประกอบ The Shining)
หรือการนำบทประพันธ์ Polymorphia ของ Krzysztof Penderecki มาใช้ในฉากนี้
(ตัวอย่าง #12: การใช้บทประพันธ์ Polymorphia ในภาพยนตร์เรื่อง The Shining)
ดูผ่านๆ อาจจะรู้สึกว่าดนตรีประกอบมันถูกเขียนขึ้นมาเพื่อฉากนี้โดยเฉพาะ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ดนตรีเป็นถูกเขียนขึ้นมาเป็นดนตรีสำหรับการแสดงคอนเสิร์ตตามปกติ แต่ผู้กำกับใช้วิธีตัดภาพให้เข้ากับแทร็กดนตรีที่มีอยู่แล้วเพื่อสื่อความหมายที่เขาต้องการ
Juxtaposition: การเทียบเคียงดนตรีกับฉากอย่างผิดที่ผิดเวลา
เทคนิกการใช้ repurposed music ยังคงมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ในปัจจุบัน บางครั้งดนตรีก็ไม่ได้สอดคล้องไปกับภาพเสมอไป แต่ใส่เข้ามาเพื่อสร้าง contrast และทำให้เกิดความรู้สึกหลอนแปลกๆ แบบผิดที่ผิดเวลา อย่างเช่นในภาพยนตร์เรื่อง Insidious (2010) กำกับโดย James Wan
(ตัวอย่าง #13: Demon scene ใน Insidious)
เทคนิกนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะกับ repurposed music เท่านั้นแต่กลับมีอิทธิพลต่อการสร้าง original soundtrack ด้วย เช่นในภาพยนตร์เรื่อง A Nightmare on Elm Street (1984) กำกับโดย Wes Craven ดนตรีประกอบโดย Charles Bernstein และเรื่อง Poltergeist (1982) กำกับโดย Tobe Hooper ดนตรีประกอบโดย Jerry Goldsmith
(ตัวอย่าง #14: A Nightmare on Elm Street สังเกตดนตรีช่วงประมาณ 1:20 )
Scream (1996) - การกลับมาของ Hollywood score
ภาพยนตร์เรื่อง Scream กำกับโดย Wes Craven ดนตรีประกอบโดย Marco Beltrami ถือเป็นการกลับมาของสกอร์ภาพยนตร์สยองขวัญแบบ Hollywood ที่ใช้วงออร์เคสตราขนาดใหญ่อีกครั้ง และเป็นภาพยนตร์ blockbuster ที่ประสบความสำเร็จมากๆ เรื่องหนึ่งอีกด้วย
(ตัวอย่าง #15: การกลับมาของสไตล์ Hollywood score ใน Scream)
Song Score: การใช้ “เพลง” ประกอบภาพยนตร์
ในช่วงปลายยุค 1990s เริ่มมีการนำเพลงแบบมีเนื้อร้อง มาใช้ประกอบภาพยนตร์สยองขวัญด้วย ตัวอย่างเช่นในภาพยนตร์เรื่อง I Know What You Did Last Summer (1997) กำกับโดย Jim Gillespie และเรื่อง The Craft (1996) กำกับโดย Andrew Fleming
สาเหตุของการนำเพลงที่มีเนื้อร้องมาใช้ประกอบภาพยนตร์ น่าจะเป็นอิทธิพลจากดนตรีป๊อป ร็อค ร่วมสมัยในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 และการมีเพลงที่คนร้องตามได้สักเพลงสองเพลง อยู่ใน soundtrack album ก็ช่วยให้บริษัทขายแผ่น CD เพลงประกอบภาพยนตร์ได้ง่ายขึ้นด้วย
(ตัวอย่าง #16: Song Score ใน I Know What You Did Last Summer)
The Modern Era
คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดนตรีมีบทบาทอย่างมากในการสร้างสรรค์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ในยุคนี้ ทั้งการอัดเสียง การสังเคราะห์เสียง และการผสมเสียงต่างๆ เข้าด้วยกันด้วย Digital Audio Workstation (DAW)
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนี้มีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการทำเพลงของ film composer และช่วยเปิดทางให้กับการออกแบบเสียง (Sound Design) เพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์มากขึ้น โดย composer สามารถออกแบบเสียงได้ตามจินตนาการของตัวเอง หลุดออกจากข้อจำกัดของเครื่องดนตรีหรือเสียงในชีวิตประจำวัน
สำหรับภาพยนตร์สยองขวัญในยุคนี้ ได้รับอิทธิพลอย่างมากจาก Sound Design เช่นกัน สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือความนิยมในการใช้ Low Frequency Effect หรือเสียงต่ำๆ ที่สังเคราะห์ขึ้นเพื่อสร้างความน่ากลัว เราลองเปรียบเทียบ approach แบบเก่ากับแบบใหม่ จากหนังสองเรื่องนี้ดู
1. Rosemary’s Baby (1968)
(ตัวอย่าง #17: Rosemary's Baby สังเกตดนตรีประกอบตั้งแต่ 2:25 เป็นต้นไป)
สำหรับ approach แบบเก่านั้น สกอร์ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการใช้เครื่องดนตรีออร์เคสตราในการสร้าง musical texture มี tempo มี pulse ที่เชื่อมกับการเคลื่อนไหวของตัวละคร มีทำนอง มีฮาร์โมนี่ เป็นดนตรีประกอบที่มีสีสันกว่า
2. Insidious (2010)
(ตัวอย่าง #18: Insidious เริ่มดูจาก 0:18)
จะสังเกตได้ว่า ทั้งสองตัวอย่างเป็นฉากเดินใน hallway แคบๆ ในบ้านเหมือนกัน แต่การใช้ดนตรีในเรื่อง Insidious แตกต่างกับเรื่อง Rosemary's Baby โดยสิ้นเชิง
สกอร์ของ Insidious อาศัยความน่ากลัวจาก Sound Design เป็นหลัก จะเห็นว่า composerใช้ Low Frequency Effect หรือเสียงต่ำๆ ลากยาวๆ และให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศให้เข้ากับบริบทของหนัง โดยอาจผสมเสียงของอะไรเข้าด้วยกันก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเสียงออร์แกนิกหรือเสียงสังเคราะห์ แต่สกอร์ของฉากนี้ไม่ค่อยมีความเป็นดนตรีเท่าไหร่นัก (หมายถึงไม่ค่อยมี musical elements อย่าง melody, harmony, tempo, orchestration, ฯลฯ)
อย่างไรก็ตาม ความนิยมของ Sound Design และ Low Frequency Effect ในดนตรีประกอบภาพยนตร์สยองขวัญก็ไม่ได้แปลว่าทุกๆ เรื่องในยุคศตวรรษที่ 21 นี้จะต้องใช้เทคนิกนี้ทั้งหมด ผู้กำกับและคอมโพสเซอร์ สามารถนำเทคนิกเก่าๆ กลับมาใช้ ผสมผสานหลายๆ เทคนิกเข้าด้วยกัน หรือสร้างความน่ากลัวด้วยเสียงใหม่ๆ ได้เสมอ อย่างเช่นการกลับไปใช้เสียงของ synthesiser ในภาพยนตร์ Netflix เรื่อง Stranger Things (2016) กำกับโดย The Duffer Brothers ดนตรีประกอบโดย Kyle Dixon และ Michael Stein ที่นำเสียงของภาพยนตร์สยองขวัญในยุค 80s กลับมาใหม่อีกครั้ง
(ตัวอย่าง #19: Stranger Things)
บทส่งท้าย
ในระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านมา ดนตรีประกอบภาพยนตร์สยองขวัญได้ทำให้เราหวาดกลัวด้วยเทคนิกต่างๆ ทั้งการใช้ leitmotif ของผีหรือฆาตรกร, ทั้งเสียงดังๆ ของวงออร์เคสตรา, ทั้งการแทรกซึมของดนตรีอย่างแนบเนียน, ทั้งการใช้เสียงมนุษย์, เสียง synthesiser, เทคนิก jump scare, เทคนิกการใช้ repurposed music, เทคนิก juxtaposition ระหว่างดนตรีและภาพ, การใช้ song score, และการใช้ sound design สร้างบรรยากาศ, ฯลฯ
คำถามคือ แล้วดนตรีประกอบภาพยนตร์สยองขวัญจะพัฒนาไปในทิศทางไหนในอนาคต? Sound Design คือคำตอบสุดท้ายของภาพยนตร์ประเภทนี้แล้วรึเปล่า? ถ้าไม่ใช่ แล้ววันหน้าจะมีเทคนิกอะไรใหม่ๆ ที่จะมาเขย่าขวัญเราอีกนะ?
ความโชคดีของผู้กำกับและนักแต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์ในยุคนี้ คือเรามีตัวอย่างสกอร์ดีๆ มากมายให้เรียนรู้จากในอดีต และเราก็มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยให้เราสร้างเสียงอะไรก็ดีที่เราจินตนาการถึง ผมเชื่อว่าวันนึงเราจะต้องได้เห็นอะไรแปลกใหม่ในภาพยนตร์สยองขวัญ ที่จะทำให้เราหวาดกลัวได้มากกว่าเดิมแน่นอน :)
ขอขอบคุณผู้อ่านทุกคนที่อ่านมาจนจบนะครับ บทความนี้อาจจะยาวสักหน่อย แต่ถ้าสั้นกว่านี้ก็คงครอบคลุมเนื้อหาได้ไม่ครบแน่ๆ ถ้าชื่นชอบก็อย่าลืมตามไปกด like ที่ Facebook Page เพื่อไม่พลาดบทความอื่นๆ ในอนาคต และกด share เพื่อให้คนอื่นๆ ได้อ่านกันด้วยนะครับ
แล้วพบกันใหม่บทความหน้าครับ :)
References
Cook, David A. (1990). A History of Narrative Film (2nd ed.). New York: W.W. Norton.
Goldburg, Michael. "Classical Hollywood Cinema (Internet Archive)
Golden Age of Hollywood. http://www.american-historama.org/1929-1945-depression-ww2-era/golden-age-of-hollywood.htm
Reverb. What Makes Horror Movie Music Scary?.
https://youtu.be/B1iWbKlDt54
Pongsathorn Posayanonth: Film Music Composer
Comments