เลือกครูดนตรีคลาสสิกอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ
- บทความโดย ศุภกร เอกบุตร
ปัจจุบันมีครูและโรงเรียนดนตรีที่เปิดสอนในประเทศไทยอยู่หลายแห่ง มีตัวเลือกให้ผู้ปกครองและนักเรียนเลือกในแทบจะทุกระดับและช่วงราคา แต่ทราบหรือไม่ว่า การเลือกเรียนดนตรีกับครูหรือโรงเรียนที่ไม่มีคุณภาพ อาจทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนเสียทั้งเงินและเวลา โดยไม่ได้พื้นฐานทักษะที่ดี ยิ่งต่อยอดขึ้นไปก็ยิ่งยาก สุดท้ายอาจทำให้ต้องกลับมาปรับพื้นฐานใหม่เกือบทั้งหมด จนนักเรียนหมดกำลังใจเรียนไปเลยก็ได้
ในบทความนี้ เรามีคำตอบครับว่าการเลือกเรียนดนตรีให้ถูกครู เป็นเรื่องที่อาศัยความละเอียดและสำคัญไม่ต่างกับการซื้อเครื่องดนตรีดีๆ เลย ครูดนตรีที่ดี จะทำให้การเรียนก้าวหน้าไปได้อย่างมั่นคง และยังผลให้ผู้เรียนมีพื้นฐานความเป็นนักดนตรีที่ดีในระยะยาว รายละเอียดที่ควรคำนึงถึงมีอะไรบ้าง ไปดูกันครับ
1. ครูดนตรีระดับต้นจะต้องโฟกัสเรื่องพื้นฐานที่ดีให้กับผู้เรียนตั้งแต่ชั่วโมงแรก
คำว่าพื้นฐานที่กล่าวมานั้น เริ่มตั้งแต่การนั่งหรือยืนให้ถูกท่า การหยิบจับเครื่องดนตรี การวางมือ วางนิ้ว การจับคันชัก ลมหายใจ ไปจนถึงพื้นฐานทฤษฎี การอ่านโน้ต นับจังหวะ การฟัง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้หากครูที่สอนระดับต้นคนไหนบอกว่าไม่จำเป็น ให้เลี่ยงไปหาครูคนอื่นได้เลยครับ
2. ครูดนตรีที่ดีจะไม่สอนออนไลน์
เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากเรื่องพื้นฐานข้างต้นครับ การสอนออนไลน์ สามารถกระทำได้ในบางวิชาที่ไม่ต้องสนใจอากัปกิริยา (gesture & posture) ของผู้เรียน เช่นวิชาสังคมศึกษา คณิตศาสตร์ และอื่นๆ แต่ในการเรียนดนตรี เรื่องอากัปกิริยานี้สำคัญอย่างยิ่ง การเรียนออนไลน์ ทำให้คนสอนไม่สามารถเห็นผู้เรียนได้ว่ากำลังวางมือถูกหรือไม่ นั่งหรือยืนถูกหรือไม่ ลงน้ำหนักเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นผลเสียต่อผู้เรียนอย่างรุนแรงในระยะยาว และที่น่าเป็นห่วงพอๆ กันคือ การได้ยินการเล่นดนตรี จะไม่มีประสิทธิภาพ ด้วยข้อจำกัดของไมโครโฟน ลำโพง และอินเตอร์เน็ต จนหลายครั้งแทบบอกไม่ได้ว่าผู้เรียนเล่นดีหรือยัง เพราะขาดความละเอียดที่เป็นผลพวงของการเรียนออนไลน์
3. ครูที่ดีจะไม่บังคับนักเรียนแข่งหรือสอบหากนักเรียนยังไม่พร้อม ไม่ต้องการ หรือไม่เต็มใจ
ปัจจุบันมีครูดนตรีหลายท่านมากที่เห็นนักเรียนของตนเป็นผลงานสำหรับสร้างชื่อเสียง เขาจะส่งเสริมให้นักเรียนแข่งให้มากที่สุด สอบให้มากที่สุด และเร่งพัฒนาการการเรียนให้มากที่สุดเพื่อให้ถึงจุดที่นักเรียนสามารถสร้างผลงานออกแสดงได้ แน่นอนว่าการสร้างผลงานเป็นเรื่องดี แต่มันคงไม่คุ้มกันแน่ๆ หากครูฝืนส่งไปโดยที่ขัดกับความต้องการผู้เรียน (ส่วนมากกรณีนี้เป็นเด็กที่ถูกผู้ปกครองบังคับ) หรือส่งไปโดยที่ไม่พร้อม เพราะสุดท้ายแล้ว การเรียนใดๆ ที่สร้างความเครียดโดยที่ผู้เรียนไม่ได้ต้องการ หรือยังไม่พร้อม ย่อมไม่เคยเป็นผลดี
หากพื้นฐานผู้เรียนไม่พร้อมแล้วไปแข่งขันหรือสอบดนตรี อย่าลืมว่ากรรมการมักเป็นนักดนตรีอาชีพ และมักจะฟังออกทันทีว่าผู้เข้าแข่งขัน/ผู้สอบคนไหนบรรเลงได้ดีจริง หรือคนไหนบรรเลงโดยขาดพื้นฐานองค์ประกอบที่สำคัญ (อาทิ dynamics, phrasing, articulation, style, tempo, interpretation, and emotion) ซึ่งกรณีหลังยิ่งเป็นผลเสียหากผู้เรียนเคยมีความมั่นใจมาก่อน
บางครั้งครูบางท่านอาจจะลืมไปว่า ผลงานของนักเรียนคือผลงานของนักเรียน ครูเป็นเพียงผู้ชี้นำ สุดท้ายแล้ว รางวัลต่างๆ ที่นักเรียนได้ มันไม่ใช่ของครู ฉะนั้นการยึดติดว่านักเรียนเป็น 'ตัวแทนความสำเร็จ' ของครู จึงเป็นทัศนคติที่ไม่ถูกต้องนัก
4. ควรหลีกเลี่ยงครูที่อ้างว่าสามารถสอนให้เล่นเพลงยากๆ ได้ภายในเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่ปี
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความรวดเร็วและความง่าย เป็นสิ่งที่ผู้คนในยุคปัจจุบันให้ความสำคัญ แต่การเรียนดนตรีคลาสสิกมีความลึกซึ้งและละเอียดอ่อน จึงไม่สามารถนำค่านิยมดังกล่าวมาใช้ได้ การเรียนดนตรีคลาสสิก ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะถึงจุดสุกงอม ยิ่งกลุ่มเครื่องคีย์บอร์ด (piano, harpsichord, organ, spinet, virginal, clavichord, fortepiano, ฯลฯ) ยิ่งใช้เวลาอย่างน้อยร่วมสิบปีจึงจะออกแสดงเพลงที่จริงจังมากๆ ได้ (เช่นบทประพันธ์ของ Beethoven, Chopin, Liszt, Busoni)
การเรียนดนตรีคลาสสิก ไม่มีทางลัด ไม่มีสูตรคณิตคิดเร็ว การอ่านโน้ตถึงจะเป็นยาขมสำหรับหลายๆ คน แต่ก็เป็นพื้นฐานที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการเรียนในระยะยาว ไม่ต่างกับการเรียนภาษา คณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ คุณเคยถามตัวเองไหมว่า มีที่ไหนสอน calculus ก่อนสอนบวกลบคูณหารบ้าง? คำตอบคือ ไม่มี การเรียนดนตรีก็เช่นกัน ศาสตร์ที่ต้องใช้เวลา การฝึกซ้อม ความตั้งใจ และการทุ่มเทอย่างสม่ำเสมอและจริงจัง ไม่สามารถมีทางลัดได้ หากคุณพบว่ามีคนโฆษณาว่าสอนดนตรีคลาสสิกจริงจังโดยไม่ต้องอ่านโน้ต และสอนภายในเวลาไม่นาน ควรระมัดระวังว่าคุณอาจถูกหลอก
5. โปรไฟล์ของครู บอกได้บางส่วนแต่ไม่ใช่ทุกอย่าง
ประวัติการศึกษา ผลงานและรางวัลที่ครูเคยได้รับ อาจยืนยันว่าครูคนนั้นมีฝีมือ เรียนมาอย่างถูกต้อง ใช้เวลาฝึกซ้อมจริงจัง แต่ไม่ได้การันตีว่าจะมีจรรยาบรรณครูดนตรีเสมอไป ครูบางคนอาจเลือกที่จะผันตัวไปเป็นสายธุรกิจ ชาร์จค่าเรียนราคาสูง แต่ให้สัญญาว่าเรียนแล้วจะเก่งภายในสองสามปี ไม่ต้องอ่านโน้ตก็เก่งได้ และพยายามส่งแข่งส่งสอบเยอะๆ (ซึ่งได้อธิบายไปแล้วว่าไม่ควรทำ)
ครูประเภทนี้แม้รู้ว่าสิ่งที่สัญญาเป็นไปไม่ได้ และส่งผลเสียต่อผู้เรียน เพราะไม่ใช่วิธีที่เขาเรียนมา แต่ก็เลือกที่จะทำร้ายนักเรียนทางอ้อม เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจต่างๆ เช่น ได้ค่าสอนเยอะ ได้ชั่วโมงสอนเยอะ ได้นักเรียนเล่นเพลงยากๆ ในเวลาอันสั้น เพื่ออัดคลิปไปโปรโมทโรงเรียน ฯลฯ
เนื่องจากการเรียนการสอนเป็นแบบเล่นตามครู โดยที่พื้นฐานของผู้เรียนยังไม่ถึงจุดที่จะเข้าใจบทประพันธ์นั้นๆ ได้ ทำให้ผู้เรียนมีพื้นฐานอ่อน หากเรียนต่อไปเรื่อยๆ ก็จะถึงจุดที่พัฒนาต่อไปไม่ได้ ต้องกลับมาปรับพื้นฐานอีกหลายปี หรือบางกรณี โดนรื้อพื้นฐานใหม่ ทำให้เสียความรู้สึก เสียความมั่นใจ ทั้งที่ผู้ปกครองเสียเงินแพงมาตลอด แต่บุตรหลานกลับไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
6. ครูดนตรีที่ดี จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญเสมอ
การคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้เรียน บางครั้งต้องแลกมาด้วยบทเรียนที่ไม่สนุก เช่นการขอให้ซ้อมจุดเดิมซ้ำๆ บังคับให้อ่านโน้ตเยอะๆ หรือเล่นสเกลจนคล่อง แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ เพื่อให้ลูกศิษย์มีพื้นฐานที่ดี ครูที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้เรียนเป็นที่ตั้งย่อมไม่ละเลยเรื่องเหล่านี้ แม้บางครั้งอาจขัดกับความต้องการของผู้ปกครองที่อยากให้ลูกเล่นเพลงได้เร็วๆ หรือผู้เรียนที่รู้สึกเบื่อหน่ายไปบ้าง
ฉะนั้น หากคุณเจอครูที่ชอบจ้ำจี้จ้ำไช ที่ทำอะไรไม่ถูกใจไปบ้าง ขอให้ดีใจไว้เถอะครับว่า คุณเจอครูที่มีจรรยาบรรณมากๆ แล้ว ครูประเภทนี้นับวันยิ่งหายากเพราะหลายคนสนใจเพียงแค่ค่าตอบแทนและผลลัพธ์ฉาบฉวยอย่างเดียว
7. หากครูดนตรีคนนั้นเป็นเจ้าของโรงเรียนดนตรี เขาจะให้เกียรติครูในสังกัดตัวเอง
การให้เกียรติครูในสังกัดนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากถือเป็นจรรยาบรรณพื้นฐานของครูเรื่องหนึ่ง ครูที่ดี ถึงแม้จะเปิดโรงเรียนในเชิงธุรกิจ ก็จะเห็นคุณค่าของครูในสังกัดตนเอง จะเข้าใจว่าการสอนของครูแต่ละคนเป็นศิลปะที่ไม่เหมือนกัน จะให้ความไว้เนื้อเชื่อใจในศักยภาพของครูในสังกัด โดยไม่บังคับให้สอนในรูปแบบที่ครูเหล่านั้นไม่ถนัด เมื่อครูในสังกัดตนเองทำผลงานต่างๆ เช่นส่งสอบหรือส่งนักเรียนแข่ง ก็จะชื่นชมยินดีและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยที่ให้เครดิตผลงานว่าเป็นของนักเรียน โดยมีครูคนนั้นๆ กำกับดูแล และจะไม่พยายามดึงผลงานต่างๆ ของผู้อื่น มาอยู่ภายใต้ชื่อโรงเรียนของตนเอง
8. มองผู้เรียนเป็นลูกศิษย์ ไม่ใช่ลูกค้า
สืบเนื่องจากประเด็นก่อนหน้าในเรื่องของจรรยาบรรรณผู้ประกอบวิชาชีพครูดนตรี การมองผู้เรียนเป็นลูกศิษย์แทนที่จะมองเป็นลูกค้า จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งไม่ว่าจะเปิดกิจการเป็นธุรกิจโรงเรียนดนตรีหรือไม่ หากคุณครูมองผู้เรียนเป็นลูกศิษย์ ครูคนนั้นจะถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับผู้เรียนอย่างเต็มที่ ตามความสามารถของผู้เรียนที่จะรับได้ และจะยืนยันที่จะทำให้ดีที่สุดเพื่อผลประโยชน์ของนักเรียน
หากมองเป็นลูกค้า ทัศนคติจะแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ครูที่มองนักเรียนเป็นลูกค้า จะทำตามคำขอของผู้ปกครองอย่างเดียวโดยไม่สนใจผู้เรียน หรือทำตามคำขอของผู้เรียนเองโดยไม่สนใจว่าคำขอนั้นสมเหตุสมผล และจะเป็นผลเสียในระยะยาวหรือไม่ เนื่องจากครูที่มองผู้เรียนเป็นลูกค้า จะมุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้า มองทุกอย่างเป็นกำไร-ขาดทุน แทนที่จะมองในแง่ของประโยชน์ทางการศึกษา
9. ยิ่งระดับสูง ครูดนตรีที่ดียิ่งไม่ยอมสอนตามบ้าน
อย่างที่บอกครับว่าครูดนตรีที่สอนระดับสูง ไม่ใช่ทรัพยากรที่หาได้ง่ายๆ ดาษดื่น แต่โดยธรรมชาติ ครูเหล่านี้เขาจะสอนที่บ้านหรือสตูดิโอของเขาเอง หรือตามโรงเรียนเท่านั้น น้อยมากที่เขาจะไปสอนตามบ้านผู้เรียน เพราะเขาขาดทรัพยากรที่ต้องใช้อ้างอิงส่วนหนึ่ง เช่นโน้ตเพลง สื่อการสอนต่างๆ ทั้งนี้ ผมกำลังพูดถึงครูระดับสูงๆ เท่านั้นครับ ถ้าระดับต้นหรือกลาง ส่วนมากมักมีรับสอนตามบ้าน และหาครูดีๆ ได้อยู่ เพราะการเรียนระดับต้น จะใช้ทรัพยากรน้อยกว่าโดยธรรมชาติ
10. ครูดนตรีที่ดี จะรู้ขีดจำกัดของตัวเอง
ครูแต่ละคนเรียนมาไม่เหมือนกัน พื้นฐานไม่เท่ากัน ความชำนาญไม่เท่ากัน บางคนชำนาญการสอนเด็กเล็ก บางคนสอนได้หลายระดับมากกว่า แต่ทั้งนี้ ครูที่ดีจะรู้ขีดจำกัดตัวเองว่าสอนได้ถึงระดับไหน และจะต้องบอกให้ผู้เรียนทราบอย่างชัดเจนเมื่อถึงเวลา และที่สำคัญคือ เขาจะต้องยินดีปล่อยให้ผู้เรียนไปหาครูใหม่ที่สอนระดับสูงขึ้นเมื่อตนเองถึงขีดจำกัดแล้ว แน่นอนว่าการกระทำนี้ บางครั้งเป็นเรื่องที่ยาก แต่หากเป็นครูที่มีจริยธรรม เขาจะต้องการเห็นลูกศิษย์ตนเองก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ แทนที่จะฝืนสอนต่อไปเพราะเห็นแก่ค่าตอบแทน
11. ครูที่เชี่ยวชาญเครื่องดนตรีที่สอนจริง จะไม่อ้างว่าตนเชี่ยวชาญเกินสามเครื่อง
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นครับว่า การเรียนดนตรีคลาสสิก ใช้เวลาและความทุ่มเทมหาศาล การที่คนๆ หนึ่ง จะมีเวลาฝึกซ้อมเครื่องดนตรีให้เชี่ยวชาญเกินสามเครื่องในเวลาเดียวกัน มันแทบเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าคุณเจอครูที่อ้างว่าตนเชี่ยวชาญหลายเครื่องดนตรีมาก คุณควรรีบถอยห่างไว้ครับ เพราะมีแนวโน้มสูงที่ครูคนนั้นอาจไม่ได้เชี่ยวชาญสิ่งที่ตนเองสอนอยู่จริง
12. ครูดนตรีที่ดีจะไม่พยายามโน้มน้าวให้ผู้เรียนมาเรียนบ่อยเกินความจำเป็น
โดยปกติแล้ว การเรียนดนตรีที่ดีนั้น จะต้องอาศัยทั้งปัจจัยต้น (ครู ผู้เรียน เครื่องดนตรี) และปัจจัยสนับสนุน (ทุน ความทุ่มเท เวลา การฝึกซ้อม แรงผลักดัน แรงสนับสนุนจากคนรอบตัว ฯลฯ) ซึ่งหากพูดถึงในแง่ของเวลาเรียนและความบ่อยครั้งของการเรียนนั้น วิชาดนตรีเป็นวิชาที่ค่อนข้างพิเศษอยู่ตรงที่วิชานี้ไม่สามารถเร่งรัดได้เหมือนกวดวิชาทั่วๆ ไป
ความสำเร็จของการเรียนดนตรี เกิดจากความขยันหมั่นเพียร ฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการสอนที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้อาศัยเวลาเป็นสำคัญ สำหรับกรณีทั่วไปแล้ว การเรียนดนตรีมักอยู่ที่ราวๆ 1-2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเติบโตและฝึกซ้อม
การเรียนที่มากไปกว่านี้ มักจะก่อให้เกิดปัญหา diminishing returns คือได้ผลน้อยกว่าที่คาดหวังและลงทุน เพราะเวลาฝึกซ้อมระหว่างคลาสเรียนอาจมีไม่มากพอ ซึ่งในจุดนี้ ครูดนตรีผู้มีจริยธรรมย่อมรู้ดี และจะไม่พยายามโน้มน้าวให้ผู้เรียนมาเรียนบ่อยครั้งเกินกว่าที่จำเป็น
อย่างไรก็ดี กรณีนี้ไม่นับรวมถึงผู้เรียนที่เรียนโค้งสุดท้ายก่อนสอบ หรือก่อน/ระหว่างการแข่งขันดนตรี เพราะกรณีเหล่านั้นอาจมีความต้องการที่เฉพาะตัวเป็นพิเศษที่จะต้องพบครูมากกว่าหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์
13. ครูดนตรีที่ดีจะไม่พยายามขายเครื่องดนตรีแก่นักเรียน
ครูดนตรีไม่ใช่เซลส์ขายเครื่องดนตรีครับ ครูที่ดี จะแนะนำเครื่องดนตรี ยี่ห้อ หรือรุ่น ให้ลูกศิษย์ไปซื้อตามกำลังทรัพย์ แต่จะไม่พยายามขายเครื่องดนตรีเสียเอง หรือไปมีส่วนแบ่งกับโชว์รูมโดยได้ค่าคอมมิชชันจากการซื้อเครื่องดนตรีของลูกศิษย์ ทั้งนี้ ไม่ได้แปลว่าครูจะไปช่วยลูกศิษย์ทดลองและเลือกซื้อเครื่องดนตรีไม่ได้นะครับ แต่การกระทำนั้นต้องไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงเท่านั้นเอง
บทส่งท้าย
ในประสบการณ์ผู้เขียนบทความเอง ก็ถือว่าโชคดีที่มีโอกาสได้พบเจอครูดนตรีดีๆ หลายท่าน ครูคนแรกของผมนั้นท่านเป็นคนที่เข้มงวดมาก ท่านยืนยันที่จะสร้างพื้นฐานให้ดีในทุกๆ ด้านโดยไม่ละเลยด้านที่ตัวผมเองในตอนเด็กนั้นไม่ชอบ ผมจำได้ชัดเจนว่าตอนเรียน ท่านจะสอนทั้งเพลงที่ต้องเล่น เทคนิค สเกล อาร์เพจโจ และรวมไปถึงทฤษฎีและการฟัง และเมื่อผมเรียนมาได้ถึงจุดที่ท่านสอนต่อไม่ได้ ท่านก็บอกกับพ่อแม่ของผมอย่างตรงไปตรงมาว่าให้หาครูท่านอื่นที่จะสอนในระดับสูงขึ้น
การที่ผมมีพื้นฐานที่ดีมาจากครูคนแรกนั้น ก็ได้ทำให้การเรียนต่อกับครูท่านต่อๆ ไปเป็นเรื่องที่ไม่ยาก หลังจากนั้นผมก็ได้พบเจอครูเปียโนอีกมากมายหลายท่าน ที่มีจริยธรรม มีความเป็นครูที่ดีในลักษณะเดียวกันทั้งหมด แน่นอนว่าครูบางท่านอาจเข้มงวดมากกว่าท่านอื่นๆ และแต่ละท่านอาจมีวิธีการสอนที่ไม่เหมือนกัน แต่ในกรณีของผมเองนั้น การที่ได้พบเจอและมีโอกาสได้เรียนดนตรีกับครูเหล่านี้ จึงได้ทำให้ผมเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าการเรียนดนตรีที่ดีนั้นเป็นอย่างไร การสอนโดยที่ยึดผู้เรียนเป็นหลักนั้นเป็นอย่างไร การปูพื้นฐานนั้นสำคัญเพียงใดต่อการเรียนในระดับสูง และการเรียนดนตรีที่ดี ได้เจอครูที่ทุ่มเทกับการสอนอย่างแท้จริงนั้น มีความคุ้มค่ากับทางปัญญาและจิตใจเกินกว่าที่เม็ดเงินจะสามารถนำมาประเมินได้
ท้ายที่สุดแล้ว การเลือกครูให้เหมาะสมกับผู้เรียนเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก และบางครั้ง การขอไปทดลองเรียนก่อน ก็เป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง ผมก็หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ตัดสินใจเลือกครูดนตรีที่ดีได้ไม่มากก็น้อยนะครับ
ศุภกร เอกบุตร (เอก)
PhD Student - Faculty of Music, University of Cambridge
MMus (Musicology) - Faculty of Music, King's College London
BA in Piano Performance - Faculty of Fine and Applied Arts, Chulalongkorn University
Bio - https://www.mus.cam.ac.uk/directory/supakorn-aekaputra LinkedIn - https://www.linkedin.com/in/supakorn-aekaputra-b5b320a0
BestKru - https://bestkru.com/109394
Comments