อยากสร้างสตูดิโอทำเพลงง่ายๆ ที่บ้าน ต้องใช้อะไรบ้าง?
ช่วงที่ผ่านมานี้มีคนเขียนเข้ามาถามบ่อยๆ เกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการทำเพลงว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งพอผมลองเอาคีย์เวิร์ดไปค้นหาดูเล่นๆ ก็ต้องแปลกใจที่พบว่าข้อมูลเรื่องนี้ที่เป็นภาษาไทยยังมีน้อยมากๆ บทความส่วนใหญ่มักจะพูดถึงการเตรียมห้องอัดเสียง (Acoustic Treatment & Soundproofing) หรือไม่ก็รีวิวสินค้าเพื่อพยายามจะขายของ ทั้งๆ ที่เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วยให้เราสามารถทำเพลงเองที่บ้านได้โดยไม่ต้องใช้งบสูง หรือซื้อของแพงๆ เลย
วันนี้ผมเลยจะมาอธิบายให้ฟังว่าจริงๆ แล้วอุปกรณ์ที่สำคัญในการทำเพลงเนี่ยมันมีอะไรบ้าง อุปกรณ์ชิ้นไหนทำหน้าที่อะไร แล้วอะไรที่สำคัญ อะไรที่ยังไม่จำเป็นต้องซื้อ เพื่อช่วยให้คนที่สนใจทำเพลงสามารถเริ่มทำได้จริงๆ โดยไม่ต้องเสียเงินเยอะไปกับของที่ยังไม่จำเป็น งั้นเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราไปเริ่มที่อุปกรณ์ชิ้นแรกกันเลยครับ
1.คอมพิวเตอร์
แน่นอนว่าจะทำเพลงก็ต้องมีคอมฯ ก่อน แต่คำถามยอดฮิตคือ สเปคคอมต้องแรงขนาดไหนถึงจะทำเพลงได้ราบรื่นไม่กระตุก? ซึ่งถ้าเดินไปถามตามร้านประกอบคอมฯ ทั่วไป คนขายคงจะตอบไม่ถูกเพราะไม่เคยทำเพลง งั้นเรามาดูกันดีกว่าว่าสเปคคอมแบบไหนถึงจะเหมาะกับการทำเพลง
- CPU
ทุกคนคงรู้ว่า CPU เปรียบเสมือนสมองของคอมพิวเตอร์ทั้งหมด การประมวลผลจะเร็วหรือช้า จะประมวลผลพร้อมกันหลายๆ อย่างได้ราบรื่นแค่ไหน ขึ้นอยู่กับ CPU ทั้งนั้น ในการทำเพลงนั้น CPU จะมีผลมากกับค่าความเฉื่อย (Latency) โดยเฉพาะเวลาที่เพลงของคุณเริ่มซับซ้อน เริ่มมีหลาย Tracks (หลายเครื่องดนตรี) หรือเริ่มมี Audio Processing Plugins เยอะ (พวกตัวแต่งสัญญาณเสียงทั้งหลาย เช่น Equaliser, Compressor, Reverb, ฯลฯ)
ถ้าโปรเจคมีความซับซ้อน คอมพิวเตอร์ก็จะต้องใช้เวลาในการประมวลผลมากขึ้น ถ้าถึงจุดที่มันประมวลผลไม่ไหว ไม่ทัน คุณก็จำเป็นต้องให้เวลามันประมวลผลมากขึ้น (โดยการเพิ่ม I/O Buffer Size) พอมันประมวลนานขึ้น เช่น 100ms ผลก็คือเวลาคุณอัดเสียงคุณก็จะได้ยินเสียงที่อัด กลับเข้ามาในหูฟังช้ากว่าเสียงที่คุณเพิ่งร้องไป 100 มิลลิวินาที ซึ่งมันจะรบกวนและทำให้คุณเสียสมาธิในการร้องเพลง เหมือนถูกเสียงตัวเองพูดแทรกตลอดเวลา นี่คือข้อเสียของ CPU ที่แรงไม่พอ
สำหรับสเปค CPU ที่แนะนำจริงๆ คือ i7 quad-core ขึ้นไป เพราะผมเองก็ใช้สเปคนี้อยู่แต่ก็ยังมี Template บางอันที่ CPU รันที่ 90% ตลอด ทำให้ต้องมาลดขนาด Template ลงมา แต่สำหรับมือใหม่ ถ้าไม่ได้ใช้ถึง 100 Tracks แนะนำว่าถ้าคอมที่ใช้อยู่เป็น i5 duo-core ขึ้นไปก็ถือว่าใช้ได้แล้วล่ะครับ
- RAM
RAM เหมือนขนาดโต๊ะทำงาน ยิ่งขนาดใหญ่ก็ยิ่งวางของได้มาก ในการทำเพลง RAM จะมีผลมากกับ Sample Library ขนาดใหญ่ๆ เพราะหลักการทำงานคือ เวลาคุณโหลดเสียงเครื่องดนตรีขึ้นมา เสียงจาก Sample Library (เช่น เสียงเปียโนขนาด 2 GB) จะถูกโหลดเข้ามาเก็บใน RAM เพื่อรอคำสั่ง พอคุณกด MIDI Keyboard สัญญาณ MIDI ก็จะไปดึงเสียงที่เก็บไว้ใน RAM แล้วเล่นออกมาทางลำโพง
ขนาดของ RAM ที่แนะนำขั้นต่ำในการทำเพลงคือ 8GB แต่ถ้าคุณมี Sample Library ขนาดใหญ่ก็ควรจะมี RAM 16GB ขึ้นไปเป็นอย่างต่ำ
- การ์ดจอ
จริงๆ แล้วไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่เว้นแต่คุณจะอยากต่อจอ Monitors หลายๆ จอเพื่อความสะดวกในการทำงาน มีบางกรณีที่ถ้า Graphic Card หน่วยความจำไม่พออาจจะมาดึงการทำงานของ RAM คุณได้ แต่ไม่ค่อยแนะนำให้ลงทุนกับการ์ดจอเยอะครับ (ยกเว้นจะเอาไว้เล่นเกมส์ด้วย) เดี๋ยวนี้การ์ดจอ On-board ส่วนใหญ่ก็สามารถต่อออกจอหลายจอได้โดยไม่มีปัญหาแล้ว
- ฮาร์ดดิสก์ (HDD/SSD)
ในส่วนของการเก็บข้อมูล แน่นอนว่า SSD ดีกว่า HDD แทบจะในทุกๆ ด้าน (ยกเว้นด้านราคา) ผมเลยแนะนำว่าสำหรับการเก็บ Sample Library ควรใช้ SSD เพราะเครื่องดนตรีต่างๆ จะโหลดขึ้นมาได้เร็วกว่าหลายเท่า และการที่ข้อมูลถูกส่งจาก SSD ไป RAM ได้รวดเร็วก็ทำให้ RAM ไม่ต้องทำงานหนัก ไม่ต้องสำรองข้อมูลไว้เยอะเพื่อรอการเรียกใช้
แต่จริงๆ แล้ว HDD ก็ทำงานได้เหมือนกันถ้าคุณไม่ได้ใช้ RAM จนเต็ม เพียงแต่คุณอาจจะต้องรอเครื่องดนตรีต่างๆ โหลดขึ้นมานานหน่อย ถ้าเริ่มต้นแนะนำให้ใช้ฮาร์ดดิสก์ที่ติดมากับเครื่องสำหรับ OS และโปรแกรมต่างๆ เท่านั้น และหา HDD USB3.0 ขนาด 1TB มาเก็บ Sample Library ครับ
- Mac หรือ Windows ดีกว่า?
การเลือก Mac หรือ Windows อาจจะมีผลกับการเลือกซอฟต์แวร์ Digital Audio Workstation (DAW) หลักของคุณ เพราะบางโปรแกรมรันเฉพาะบน Mac เช่น Logic Pro X แต่จริงๆ แล้ว Mac ก็มีข้อเสียอยู่หลายโดยเฉพาะเรื่องราคาที่แพงมาก กับการเลือกสเปคที่ต้องเลือกตั้งแต่ตอนซื้อเลย ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทีหลัง ข้อดีก็อยู่ที่ระบบปฏิบัติการ Mac OSX ที่ใช้งานง่าย กับ port ความเร็วสูงอย่าง thunderbolt 3 ที่มากับเครื่อง แต่ทาง Windows ก็ยังมี DAW ดีๆ ให้ใช้อีกเยอะเช่น Cubase, Digital Performer, Pro Tools, Ableton, ฯลฯ
จะเห็นว่าสเปคคอมฯ ขั้นต่ำที่ใช้ในการเริ่มทำเพลงก็อาจจะไม่ได้สูงมากอย่างที่คิด ซึ่งหลายๆ คนที่กำลังอ่านบทความนี้ก็อาจจะมีกันอยู่แล้วด้วยซ้ำ ได้แก่
CPU : Intel i5 duo-core ขึ้นไป
RAM : 8 GB ขึ้นไป
GPU : on-board / Nvidia / AMD (อะไรก็ได้)
HDD : internal drive ที่มากับเครื่อง กับ external HDD 1TB
OS : Mac OSX / Windows
2. Digital Audio Workstation (DAW)
DAW คือโปรแกรมที่ใช้สำหรับบันทึกและปรับแต่งเสียง ส่วนมากมีการทำงานคล้ายกันคือจะมี Tracks ต่างๆ เป็นแถวแนวนอน, มี Audio Regions หรือ MIDI Regions ของเครื่องดนตรีต่างๆ, มี Audio Editor และ Piano Rolls สำหรับปรับแต่ง, มีส่วนของ Mixer สำหรับปรับความดัง-เบาและใส่ plug-insให้กับแทร็คต่างๆ DAW ที่นิยมใช้กันในปัจจุบันได้แก่
- Apple’s Logic Pro X (Mac) - $199
ซอฟท์แวร์ยอดนิยม ราคาถูก มีเครื่องดนตรีและ Plugins ต่างๆ แถมมาครบ
- Steinberg’s Cubase 9.5 (Mac/Windows) - €99, €309, €559
ซอฟท์แวร์ทำเพลงยอดนิยมฝั่ง Windows
- Avid’s Pro Tools (Mac/Windows) - $29.99/เดือน, $599
ซอฟท์แวร์มาตรฐานสตูดิโออัดเสียงส่วนใหญ่ทั่วโลก
- Ableton Live 10 - $99, $449, $749
เป็นที่นิยมในกลุ่มคนทำเพลง Electronic Music
- Digital Performer 9 - $499
เหมาะกับการทำ MIDI เป็นพิเศษ
(ส่วนตัวผมใช้ Logic Pro X เป็นหลัก และยังไม่เคยย้ายไปใช้ซอฟท์แวร์อื่นๆ ถ้าใครที่เข้ามาอ่านกำลังใช้ซอฟท์แวร์ตัวไหนอยู่ก็คอมเม้นท์ข้อดี-ข้อเสียเสริมได้เลยนะครับ)
สำหรับคนเริ่มต้นแนะนำให้ลองเลือกจาก List ด้านบนมา 1 ตัวแล้วลองใช้ฟรีดูก่อน (Free Trial) ถ้าชอบค่อยตัดสินใจว่าจะซื้อดีไหม ซื้อตัวไหนดี ถ้าราคาถูกสุดน่าจะเป็น Cubase 9.5 Elements กับ Ableton Live 10 Intro (€99, ประมาณ 3800 บาท) แต่ถ้างบน้อยกว่านี้ลองดู FL Studio Fruity Edition หรือ Reason 10 Intro (เริ่มต้นที่ $99, ประมาณ 3200 บาท)
3. ซาวการ์ด (Audio Interface)
Audio Interface หรือที่คนไทยเรียกติดปากกันว่าซาวการ์ด คือศูนย์กลางการแปลงสัญญาณระหว่าง Digital กับ Analog ของสตูดิโอของคุณ ให้อธิบายง่ายๆ ก็คือ ถ้ามีการอัดเสียงเช่น เสียงร้อง คุณก็ต้องใช้ไมโครไฟนที่แปลงเสียงของคุณให้เป็นสัญญาณ Analog สัญญาณนี้ก็จะเดินทางผ่านสายเข้าไปใน Audio Interface แล้วถูกแปลงเป็นดิจิตอล บันทึกเก็บเอาไว้ในคอมฯ ของคุณ กระบวนการนี้เรียกว่า Analog-to-Digital Conversion ในทางกลับกัน เวลาคุณ playback เสียงนั้น ข้อมูลดิจิตอลที่บันทึกไว้ในคอมฯ ก็จะส่งเข้าไปหา Audio Interface เพื่อแปลงเป็น Analog แล้วส่งต่อไปที่ลำโพงหรือหูฟังของคุณ ให้มีเสียงออกมา อันนี้คือ Digital-to-Analog Conversion
ต้องบอกก่อนว่า โดยทั่วไปคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องมีตัวแปลง Digital to Analog และ Analog to Digital คุณภาพต่ำติดมากับเครื่องอยู่แล้ว เพราะฉนั้นถ้าไม่อยากซื้อจริงๆ และจะไม่อัดเสียงเลย อยากทำเพลงจาก MIDI ล้วนๆ ก็อาจจะไม่ต้องซื้อ Audio Interface ก็ได้ แต่อุปกรณ์ชิ้นนี้ก็จะช่วยให้อัดเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ, ทำให้คุณภาพเสียงที่ออกลำโพงดีขึ้น, และทำให้แยก Output ไปออกลำโพงพร้อมและออกหูฟังพร้อมกันได้
สำหรับ Audio Interface ที่แนะนำก็มี Focusrite Scarlett 2i2 2nd Gen ($173) หรือถ้ามีงบเยอะหน่อยก็ Clarett 2Pre USB ($459) สำหรับผู้เริ่มต้น เอาแค่ 2 inputs ก่อนก็พอถ้าไม่ได้อัดเสียงอะไรใหญ่ๆ อย่างเช่นกลองชุด
4. MIDI Keyboard
MIDI Keyboard เอาไว้สำหรับเล่นกับ Sample Library ของคุณ โดยการโหลดเครื่องดนตรีขึ้นมาใน DAW แล้วก็กดปุ่มอัดเสียง แล้วเล่น MIDI Keyboard เพื่อบันทึกลงไป ถ้าถามว่าไม่มี MIDI Keyboard ทำเพลงได้มั้ย ตอบเลยว่าได้ เพราะคุณสามารถใช้เมาส์เขียนโน้ตทีละตัว ปรับ Velocity ทีละตัวได้ หรือแม้แต่ลากเส้น MIDI CC เองก็ได้เช่นกัน คนทำเพลง EDM เก่งๆ บางคนอย่าง Deadmau5 ก็ใช้เมาส์ทำเพลงได้โดยไม่ต้องมี MIDI Keyboard ด้วยซ้ำ แต่ MIDI Keyboard จะช่วยให้คุณเล่น MIDI Instrument บางอันได้สะดวกขึ้น สนุกขึ้น
ปกติ MIDI Keyboard จะมีทั้งแบบเป็นลิ่มนิ้วขาวดำเฉยๆ กับแบบมี Faders และ Knobs มาเยอะๆ ซึ่ง ของเล่นเสริมพวกนี้คุณจะเอาไว้ควบคุม parameter อะไรของเครื่องดนตรีก็ได้ไม่ว่าจะเป็น Volume, Expression, Panning, ฯลฯ การเลือก Keyboard ก็แล้วแต่ชอบเลยถ้าคุณเป็นนักเปียโนก็อาจจะชอบ 88 คีย์ถ่วงน้ำหนัก ถ้าไม่ใช่นักเปียโนอาจจะ 61 คีย์ก็พอ หรือถ้าเน้นเคลื่อนย้ายไปในที่ต่างๆ ก็อาจจะเน้นขนาดเล็กๆ อย่าง 25 คีย์แบบไม่ต้องถ่วงน้ำหนักคีย์ อันนี้แล้วแต่ชอบจริงๆ ถ้ายี่ห้อที่เห็นใช้กันเยอะก็จะมี M-Audio, Novation, Korg, Akai, Native Instruments เป็นต้น บางอันจะแถม Sample Library มาให้ใช้ด้วยนะ
5. Sample Libraries และ Audio Processing Softwares
Sample Library คือไฟล์เสียงที่บันทึกไว้เป็นจำนวนมาก และถูกเขียนโปรแกรมให้เป็นซอฟท์แวร์ ที่พร้อมจะ playback เสียงต่างๆ ออกมาตามข้อมูล MIDI ที่ได้รับ เช่นเวลาคุณกดโน้ตบน MIDI Keyboard ซอฟต์แวร์ก็จะเล่นเสียงเปียโน เสียงกลอง เสียงกีตาร์ หรือแม้แต่เสียงคนร้องออกมา ส่วน Audio Processing Softwares คือซอฟท์แวร์ที่ปรับแต่งเสียงให้เปลี่ยนไปในทางต่างๆ เช่น Equaliser, Compressor, Delay, Reverb เป็นต้น
โดยปกติเวลาซื้อ DAW ก็จะมี Sample Library และ Audio Processing Softwares แถมมาด้วยอยู่แล้ว แต่การมีเสียงใหม่ๆ จาก Sample Library ใหม่ๆ ก็ช่วยเพิ่มความหลากหลายให้กับเพลงที่คุณทำ เหมือนกับการมีเครื่องดนตรีใหม่ๆ ไว้เล่นนั่นเอง ส่วนการมี Audio Processing Softwares ใหม่ๆ ก็จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นหลากหลายในการมิกซ์เสียงของคุณให้มากขึ้น
สำหรับผู้เริ่มต้น ผมแนะนำว่าให้ใช้ Sample Library และ Audio Processing Softwares ฟรีที่แถมมากับ DAW ของคุณจนชำนาญก่อน แล้วค่อยเริ่มหา Sample ใหม่ๆ มาเล่น ค่อยๆ ซื้อ ค่อยๆ ฝึกไปทีละอัน เพราะท้ายที่สุดแล้วดนตรีที่ดีมันอยู่ที่ไอเดียมากกว่าที่งบประมาณ การไล่ซื้อ Sample ทุกตัวที่เสียงเพราะ ไม่ได้ทำให้เพลงคุณเสียงดีขึ้น การฝึกฝนกับสิ่งที่มีอยู่แล้วในมือจนชำนาญต่างหาก ที่จะทำให้คุณทำเพลงเก่งขึ้น
6. ไมโครโฟน
จริงๆ แล้วเนื้อหาของการเลือกใช้ไมโครโฟนนี่เป็นหัวข้อที่สามารถเขียนเป็นบทความได้อีกหลายบทความเลย แต่ถ้าเอาแบบเบื้องต้น อยากได้ไมค์สักตัวไว้สำหรับอัดเสียงร้อง แล้วงบไม่เยอะ แนะนำให้ใช้ไมค์ไดนามิคมาตรฐานอย่าง Shure SM57/SM58 ($99) หรือถ้ามีงบสูงหน่อยลองดูไมโครโฟนคอนเดนเซอร์ ที่ราคาไม่แพงมาก เช่น Rode, Audio Technica
สิ่งนึงที่ผมอยากแนะนำมากๆ เกี่ยวกับไมโครโฟนคือ อย่าคิดว่าไมค์แพงกว่าแล้วเสียงจะดีกว่าเสมอไป มันมีตัวแปรอีกหลายอย่างเช่น สภาพแวดล้อมในการอัดเสียง ตำแหน่งไมโครโฟน ประเภทของไมโครโฟน พิคอัพแพทเทิร์น ฯลฯ ที่จะมีผลกับเสียงของคุณมากกว่า (เหมือนกล้องถ่ายรูปอะ กล้องแพงแล้วรูปสวยเสมอมั้ย ก็ไม่) เสียงที่ดีเกิดจากการเลือกไมค์และตำแหน่งไมค์ให้เหมาะกับลักษณะเสียงที่ต้องการ ไม่ได้เกิดจากการเอาไมค์แพงที่สุดไปจ่อต้นกำเนิดเสียงแล้วภาวนาให้เสียงออกมาดี
7. ลำโพงมอนิเตอร์
อุปกรณ์ชิ้นสุดท้ายคือลำโพงมอนิเตอร์ซึ่งเป็นลำโพงที่มีความทนทาน รับแรงสั่นสะเทือนจากเสียงได้ในมาก เนื่องจากการอัดเสียงไม่เหมือนการนั่งฟังเพลงทั่วไป แต่มี Dynamic Range ที่กว้างกว่าหลายเท่า นอกจากนี้ลำโพงมอนิเตอร์ที่ดียังต้องให้เสียงที่ตรงไปตรงมา ไม่ปรุงแต่ง จึงไม่แนะนำให้ใช้ลำโพงฟังเพลงทั่วไป เพราะอาจให้เสียงที่ปรุงแต่งและอาจชำรุดเสียหายได้ง่ายกว่า ลำโพงมอนิเตอร์ที่ราคาถูกที่สุดเท่าที่ผมจะหาได้คือ MACKIE CR3 ซึ่งราคาอยู่ที่ $99 หรือประมาณ 3,200 บาท (อย่าถามว่าเสียงดีมั้ยนะ ไม่เคยใช้) แต่ลำโพงมอนิเตอร์ที่นิยมกันจะราคาสูงกว่านี้พอสมควร เช่น Yamaha HS5 ($400), Rokit 5 Gen 3 ($300)
บทสรุป
ทีนี้ลองมาคำนวณเล่นๆ กันครับว่าถ้าอยากเริ่มทำเพลงจะต้องใช้งบเท่าไหร่
1. คอมพิวเตอร์ = 0 บาท (ส่วนมากมีอยู่แล้ว)
2. DAW : FL Studio Fruity Edition = $99 = ประมาณ 3,200 บาท
3. Audio Interface : Scarlett 2i2 = $173 = ประมาณ 5,500 บาท
4. MIDI Keyboard : iRIG KEYS 25 = $80 = 2,560 บาท
5. Sample Library & Audio Processing Softwares : 0 บาท (ใช้เท่าที่แถมมากับ DAW)
6. ไมโครโฟน SM58 : $99 = 3,200 บาท
7. ลำโพงมอนิเตอร์ : MACKIE CR3 = $99 = ประมาณ 3200 บาท
รวมแล้ว 17,660 บาท ในกรณีที่ซื้อทุกอย่าง ซึ่งถ้าไม่ต้องการอัดเสียงอาจจะตัดไมโครโฟนออกไปได้ 3,200 หรือถ้าไม่ต้องการใช้ MIDI Keyboard ก็จะใช้งบน้อยลงอีก 2,560 ทำให้งบเริ่มต้นในการซื้ออุปกรณ์ทำเพลงจริงๆ อยู่ที่ 11,900 บาท เท่านั้น
อ่านมาถึงตรงนี้ ผมก็หวังว่าจะมีประโยชน์กับคนที่สนใจเริ่มทำเพลง แต่งเพลง อัดเสียง หรือทำ cover และต้องการทำสตูดิโอทำเพลงง่ายๆ ของตัวเองที่บ้านนะครับ จะเห็นได้ว่าด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ก้าวหน้าขึ้นทำให้ราคาอุปกรณ์ต่างๆ ถูกลงมาก หลายๆ อย่างที่เคยเป็น Hardware แยกชิ้นอย่าง Analog Synth หรือ Analog Audio Processors ทั้งหลายก็ถูกทดแทนด้วยซอฟท์แวร์มากขึ้น ศิลปินเดี่ยวก็เริ่มเข้าถึง DAW และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการทำเพลงเองได้และเกิดการทำเพลงที่บ้านในลักษณะของ Home Studio มากขึ้น
บทความนี้ผมเขียนขึ้นมาเพราะต้องการให้ข้อมูลแก่คนที่สนใจจริงๆ ไม่ได้มีการโฆษณาสินค้าแอบแฝงใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าอ่านแล้วคิดว่าเป็นประโยชน์ก็อย่าลืมกด Like และ Share เป็นกำลังใจให้ผู้เขียนด้วยนะครับ หรือถ้ามีคำถามอะไรที่ผมพอจะตอบได้ก็ Comment ไว้ด้านล่างได้เลยนะครับ แล้วพบกันบทความหน้าครับ : )
Pongsathorn Posayanonth: Film Music Composer
Comments