top of page
Single post: Blog_Single_Post_Widget

Creative Block และวิธีสร้างแรงจูงใจในการสร้างสรรค์ผลงาน


Creative Block หรืออาการสมองเจอทางตัน คิดไม่ออกว่าจะเขียนอะไรต่อดี เป็นศัตรูตัวสำคัญของคนทำงานสร้างสรรค์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน นักเขียน หรือนักแต่งเพลง บางคนเสียเวลาเป็นวัน หรือเป็นสัปดาห์ไปเปล่าๆ โดยที่งานไม่คืบหน้าเลย มาคิดออกอีกทีก็ 2-3 วันก่อน Deadline ทำให้ต้องมานั่งปั่นงานกันจนวินาทีสุดท้าย ไม่มีเวลาตรวจทาน คุณภาพงานก็ไม่ดีอย่างที่หวังไว้แต่แรก พอคนแต่งเพลงไม่แฮปปี้ คนฟังก็ไม่แฮปปี้ สุดท้ายก็ทำให้ท้อ ไม่อยากทำงานชิ้นอื่นๆ อีก

ในหนังสือ The War of Art: Winning the Inner Creative Battle (2015), นักเขียนชื่อ Stephen Pressfield ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า

“Every creative person struggles with internal resistance.”

(คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ทุกคนจะประสบปัญหาจากแรงต้านภายใน)

คำว่า “แรงต้านภายใน” ของ Stephen ในที่นี้ก็หมายถึงอาการ Creative Block ที่ศิลปินไม่สามารถทำงานต่อให้สำเร็จลุล่วงได้ หรือมีอาการผลัดวันประกันพรุ่งไม่ยอมเริ่มทำงานเสียทีทั้งๆ ที่รู้ว่าหากเริ่มแล้วจะสามารถทำต่อไปได้จนจบ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ก็อย่ากังวลไป ปัญหานี้เกิดกับทุกคนที่ต้องทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด

Creative Block เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุทั้งที่มาจากปัจจัยภายในของคุณเอง และปัจจัยภายนอกรอบๆ ตัวคุณ เช่น คุณอาจจะคาดหวังไว้สูงเกินไปกับงานชิ้นนี้แล้วคิดว่าไอเดียที่คุณมีอยู่ตอนนี้มันยังดีไม่พอ, คุณอาจจะกลัวความล้มเหลว, หรืออาจจะมีคนจำนวนหนึ่งที่รอฟังผลงานของคุณอยู่และเชื่อว่ามันจะต้องออกมาดี, ฯลฯ แต่ความคิดเหล่านี้มันกำลังบั่นทอนแรงจูงใจในการทำงานของคุณโดยไม่รู้ตัว พอไม่มีแรงจูงใจ ก็ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ แล้วก็ลงเอยที่เขียนงานไม่ออก

Daniel H. Pink - TED Talk on Motivation (2011)

แล้วแรงจูงใจของเรามันมาจากไหนกันแน่นะ? Daniel Pink นักวิจัยและนักเขียนผู้เชี่ยวชาญเรื่องแรงจูงใจในการทำงาน เคยสรุปใน TED Talk เรื่อง Motivation และในหนังสือ Drive:The Surprising Truth About What Motivates Us (2011) ว่าแรงจูงใจในการทำงานนั้นมาจาก 3 ปัจจัยด้วยกันได้แก่ เป้าหมาย (Purpose), ความชำนาญ (Mastery), และความไม่ถูกควบคุม (Autonomy)

1) เป้าหมาย (Purpose) คือคุณเชื่อว่าสิ่งที่คุณทำมันมีความหมายในทางใดทางหนึ่ง เช่น สมมติว่าคุณกำลังหลงรักใครสักคนนึงแล้วต้องการจะแสดงออกความรู้สึกนี้ออกมาโดยใช้ดนตรีเป็นสื่อ ฉะนั้นการแต่งเพลงจนจบทำให้คุณรู้สึกดีที่ได้เติมเต็มความต้องการนั้น มันเลยมีความหมายสำหรับคุณ หรือบางครั้งเพลงของคุณอาจจะมีความหมายเพราะคนรอบข้างให้ความสำคัญกับมันเช่น คุณรู้สึกภูมิใจตอนที่คุณเล่นเพลงที่เพิ่งแต่งเสร็จให้เพื่อนๆ ฟังแล้วทุกคนชื่นชมคุณ, หรือตอนที่คุณโพสท์ลง Social Media แล้วมีคน Like จำนวนมาก งานที่มีความหมายในสายตาของคุณหรือของคนรอบตัวคุณ คืองานที่คุณจะรู้สึกมีแรงจูงใจที่จะทำมัน

2) ความชำนาญ (Mastery) คืองานที่คุณทำมีความเหมาะสมกับความสามารถของคุณ ไม่ง่ายเกินไปจนน่าเบื่อ และไม่ยากเกินไปจนรู้สึกท้อ ความคาดหวังให้งานออกมาดีมากๆ คือการบีบให้ตัวคุณเองรู้สึกว่างานนี้ยากและไม่กล้าลงมือทำ แต่งานที่ง่ายไปก็น่าเบื่อและจะไม่ช่วยให้คุณพัฒนาฝีมือ

3) ความไม่ถูกควบคุม (Autonomy) คืออิสระในการทำงาน การที่คุณได้ทำงานเพราะอยากจะทำ มีความสุขที่ได้ทำมัน แต่ไม่ใช่เพราะถูกบังคับ มนุษย์ส่วนมากโดยเฉพาะศิลปินไม่ชอบการถูกควบคุมหรือกดดัน และเมื่อถูกควบคุมก็จะรู้สึกไม่อยากทำ เคยไหมเวลาที่มีคนห้ามคุณทำอะไรสักอย่างเช่น "อย่ากดปากกาก๊อกๆ แก๊กๆ ในห้องประชุมนะ" พอจบประโยคคุณก็รู้สึกอยากจะกดปากกาในมือขึ้นมาทันทีทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ก้ไม่ได้สนใจมัน

แต่ในชีวิตจริง Autonomy เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงยากที่สุด เพราะคนที่จ่ายเงินจ้างคุณมักจะเป็นคนสั่งให้คุณทำงานอะไรสักอย่างที่คุณสามารถทำได้ ซึ่งถ้าเป็นตอนที่คุณอยากทำอยู่แล้วก็ดีไป แต่ถ้าเป็นตอนที่คุณไม่อยากทำแต่จำเป็นต้องรับงานไว้ คุณก็จะอยู่ในสถานะต้องทำงานเพื่อเงิน เราเรียกสถานะนี้ว่า Over-Justification Effect กล่าวคือ เมื่อก่อนคุณทำเพลงจากแรงบันดาลใจของตัวเอง ทำเป็นงานอดิเรกไม่ได้รับเงินจากใคร คุณก็ทำได้เรื่อยๆ แต่ต่อมาวันนึงคุณทำเพลงแล้วได้เงินทุกครั้ง แรงจูงใจของคุณจะค่อยๆ เปลี่ยนจากภายในไปสู่ภายนอกซึ่งในกรณีนี้คือค่าจ้าง ทีนี้ความอยากทำงานของคุณก็จะเริ่มแปรผันตามค่าจ้าง ถ้าวันนึงมีคนมาจ้างคุณทำเพลงด้วยราคาที่น้อยกว่าปกติมากๆ หรือขอให้ทำฟรี คุณก็จะรู้สึกเซ็งๆ ไม่ค่อยมีแรงจูงใจในการรับงานนั้นเท่าไหร่

สถานะ Over-Justification Effect ได้ถูกทดลองในปี 1973 โดยนักวิทยาศาสตร์ 3 คนได้แก่ Mark Lepper, Daniel Greene, และ Richard Nisbett ซึ่งพวกเขาได้ทำการทดลองกับเด็กกลุ่มนึง โดยให้เด็กเลือกของเล่นอะไรก็ได้ตามใจ มีเด็กกลุ่มหนึ่งเลือกเล่นวาดรูปด้วยสีเทียน นักวิทยาศาสตร์จึงแบ่งเด็กกลุ่มนี้ออกเป็น 3 กลุ่ม เขาบอกเด็กกลุ่มแรกว่าถ้าเลือกวาดรูปด้วยสีเทียนจะได้ของรางวัล, ส่วนเด็กกลุ่มที่สองให้รางวัลทุกรอบไม่ว่าจะเลือกเล่นอะไร, และปล่อยให้เด็กกลุ่มที่สามเล่นเองโดยไม่บอกอะไรเลย ไม่มีรางวัลให้ด้วย เมื่อทำแบบนี้ซ้ำๆ ไประยะหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ก็หายตัวไป 2 อาทิตย์ปล่อยให้เด็กเล่นเอง ผลปรากฏว่าพอไม่มีรางวัล เด็กกลุ่มแรกก็ไม่สนใจวาดรูปด้วยสีเทียนอีกเลย เพราะเคยวาดรูปแล้วได้รางวัลแต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว เลยไม่อยากทำแล้ว ในขณะที่กลุ่มอื่นๆ ยังสนใจวาดรูปอยู่ปกติ

การแก้ปัญหา Creative Block นั้น นอกจากการสร้างแรงจูงใจในการทำงานด้วยการทำงานอย่างมีเป้าหมาย, ทำให้เหมาะกับทักษะความชำนาญ, และทำอย่างไม่ถูกควบคุมหรือกดดันจากปัจจัยภายนอกตามหลักการของ Daniel Pink แล้ว ศิลปินยังควรรู้จักการทำงานสร้างสรรค์ให้ได้โดยไม่ต้องรอแรงบันดาลใจ ใช้เพียงแค่ความรู้ความเข้าใจทางทฤษฎีในการพัฒนาไอเดียที่มีอยู่แล้วให้คืบหน้าไปได้

ผมเชื่อว่าระเบียบวินัยในการทำงานคือกุญแจสำคัญที่จะทำให้งานเสร็จได้อย่างมีคุณภาพ อาจจะเริ่มจากการจัดเวลาสำหรับแต่งเพลง 1-2 ชั่วโมงต่อวันเป็นประจำทุกวันแม้ว่าในวันนั้นจะไม่มีแรงบันดาลใจเลยก็ตาม ถึงงานที่ได้ในระยะแรกๆ จะยังไม่เป็นที่พอใจนัก แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้ฝึกฝนเทคนิก ได้ทดลองไอเดียใหม่ๆ ในการแต่งเพลง ซึ่งเป็นการฝึกฝนที่สำคัญและทำให้เราพัฒนาฝีมือเป็นศิลปินที่เก่งขึ้น

จริงๆ แล้วการทำงานชิ้นปัจจุบันให้สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ มันอาจไม่สำคัญเท่าการทำมันให้เสร็จไปก่อน แล้วไปทำชิ้นถัดไปให้ดียิ่งขึ้นกว่าชิ้นเดิม ลองคิดดูเล่นๆ ว่าแม้แต่อัจฉริยะอย่างโมสาร์ท ก็ไม่ได้เขียน Masterpiece ได้ตั้งแต่ชิ้นแรกๆ ที่เขาแต่ง แต่เทคนิกของเขาค่อยๆ พัฒนาตามเวลาและการฝึกฝน ทำให้งานที่เป็นที่รู้จักส่วนมากอยู่ในช่วงท้ายของชีวิต (1781-1791)

ก่อนจะจบบทความนี้ ผมขอปิดท้ายด้วย Quotes ของ Dmitri Shostakovich ซึ่งเป็นคอมโพสเซอร์ที่มีชื่อเสียงอย่างมากคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20 เขาได้กล่าวไว้ว่า

"A creative artist works on his next composition because he was not satisfied with his previous one."

(ศิลปินที่สร้างสรรค์จะทำงานชิ้นถัดไป เพราะเขายังไม่พอใจกับชิ้นก่อนหน้า)

หวังว่าบทความนี้จะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่ทำงานสร้างสรรค์ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรีหรืองานด้านอื่นๆ ให้หลุดจาก Creative Block และมีแรงจูงใจที่จะกลับไปสร้างสรรค์งานชิ้นอื่นๆ ต่อไปครับ ขอบคุณที่อ่านมาจนจบ ถ้าคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์ก็อย่าลืม Like/Share ให้คนอื่นอ่านกันด้วยนะครับ ;)

 

Pongsathorn Posayanonth: Film Music Composer

References

  1. Daniel H. Pink. 2011. Drive: The Surprising Truth About What Motivates Us.

  2. Steven Pressfield. 2015. The War of Art: Winning the Inner Creative Battle.

  3. Thomas Rutherford. 2016. Three Keys to Regain & Fire Up Your Motivation to Make Music. (https://www.careersinmusic.com/music-motivation-part-2)

  4. Thomas Rutherford. 2016. Why Making Music Your Career Can Destroy Your Motivation (And What To Do About It). (https://www.careersinmusic.com/music-motivation-part-1)

964 views

コメント


bottom of page